พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำหน้าที่การขับเคลื่อนงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และวิทยากรระดับจังหวัดกว่า 2,800 คน เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำนโยบายดังกล่าวมาวิเคราะห์บทบาทหน้าที่และภารกิจ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการรับผิดชอบ โดยจัดทีมขับเคลื่อนฯ ลงพื้นที่ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1-20 มี.ค.2561 ซึ่งเป็นการเยี่ยมเยียนรายครัวเรือน/รายบุคคล รวมทั้งค้นหาความต้องการของประชาชน หมู่บ้าน ชุมชน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.-10 เม.ย.2561 เพื่อสร้างการรับรู้และการปฏิบัติตามสัญญาประชาคม

ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานห้วงที่ 3 ซึ่งได้ให้ทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด กลับมาทบทวนการทำงานในห้วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งรับทราบความรู้ความเข้าใจในการทำงานเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อออกไปสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงหมู่บ้านและชุมชน
โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดประชุมทีมขับเคลื่อนฯ ออกเป็น 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน เมื่อวันที่ 20-21 เม.ย.2561 ที่ จ.สงขลา, ครั้งที่ 2 ภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 27-28 เม.ย.2561 ที่ จ.นนทบุรี, ครั้งที่ 3 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.2561 ที่ จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.2561 ที่ จ.ขอนแก่น
เรื่องสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำในการประชุมทีมขับเคลื่อนฯ ทั้ง 6 ภาคดังกล่าว คือ การนำ “ชุดความรู้” ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นในรูปแบบ DVD เพื่อให้ครู กศน.ตำบล นำไปเผยแพร่ในระดับพื้นที่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศมากที่สุด เนื่องจาก กศน.ตำบลทุกแห่งมีบทบาทและภารกิจ 4 ศูนย์เรียนรู้ ทั้งศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน
“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเมื่อวานนี้ (29 เม.ย.2561) ขอให้ดูกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบให้ กศน.สำรวจข้อมูลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ ซึ่งครู กศน.จะได้รับการถ่ายทอดวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เช่น การผลิตหรือแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ โดยขอให้มีการทำงานตามกลไกประชารัฐ คือ เกิดความร่วมมือกับภาคประชาชน และภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น หอการค้า อุตสาหกรรม ประธานชมรมธนาคาร ฯลฯ อันจะส่งผลให้ประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศได้รับประโยชน์โดยตรง คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับรายได้ให้มากขึ้น” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว



นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. กล่าวถึงรายละเอียดการจัดประชุมครั้งนี้ว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายสำคัญหลายประการลงไปในพื้นที่ และต้องการให้มีการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในด้านต่างๆ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่บูรณาการงานสำคัญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ ปรับกระบวนการทางความคิด เสนอแนวทางให้กับประชาชน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น โดยใช้ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล เป็นแกนหลัก
ซึ่งมีกรอบหลักการในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง ดังนี้ 1) สัญญาประชาคมถูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิถีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9) บูรณาการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน
ทั้ง 10 เรื่องดังกล่าวถือเป็นสำคัญเร่งด่วน ที่จะขยายผลเพื่อต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ ต่อไปให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนทุก 3 เดือน
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ระดับชาติ 2) ระดับจังหวัด 3) ระดับอำเภอ 4) ระดับตำบล ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้กรอบหลักในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่องโดยการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงการดำเนินงานในทุกระดับ
ดังนั้น ในการประชุมทีมขับเคลื่อน ฯ ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้และสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม/โครงการ ภายใต้ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหาร และครู กศน.ตำบล ใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3,020 คน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและผู้มีเกียรติ อาทิ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, นายอำนาจ วิชยานุวัติ, นายพิธาน พื้นทอง, นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., คณะวิทยากร นำโดย ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ อดีตคณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, พ.อ.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร คณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการและอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ฯลฯ








Written by นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, ปกรณ์ เรืองยิ่ง, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า (VDO)
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร