นายกฯ มอบนโยบายจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC
จังหวัดชลบุรี – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อำเภอสัตหีบ
สรุปประเด็นที่นายกรัฐมนตรี
มอบนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
●
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า การอาชีวศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างชาติให้เข้มแข็งเพื่อพัฒนาประเทศในหลายด้านด้วยกัน โดยเป้าหมายประการหนึ่งคือ การสร้างคนให้ทำงานได้ตรงกับความต้องการของประเทศ ผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพในการทำงานใน First S-Curve และ New S-Curve ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี โดยทุกคนต้องไปสู่เป้าหมายเดียวกันทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือ การที่เยาวชนมีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เยาวชนมีเงินไปจุนเจือครอบครัวได้มากขึ้น และหากเราไม่พัฒนาคน ไม่พัฒนางาน และไม่พัฒนาอาชีพ เราก็จะอยู่ที่เดิมทั้งระบบ
สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในขณะนี้คือ การให้ทุกคนพร้อมที่จะรับฟัง ปรับตัว และปฏิรูปตนเอง โดยรัฐบาลก็ต้องปฏิรูปตนเองด้วยในหลาย ๆ ด้าน และรัฐบาลต้องไว้วางใจประชาชน ในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องไว้วางใจรัฐบาลเช่นกันด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในประเทศ ในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ในทางภูมิศาสตร์ เราจึงจำเป็นต้องใช้ศักยภาพนี้ รวมทั้งเสน่ห์ของประเทศ เช่นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ความยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ใช่คนไทยที่ขัดแย้งกันในเรื่องความคิด ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นกลไกตรงกลางในการเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียน รวมทั้งประชาคมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาคมในประเทศกลุ่มตะวันตก, ตะวันออก, หมู่เกาะ, มุสลิม, CLMV โดยต้องพิจารณาดูว่าจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ดังกล่าวได้อย่างไร ทั้งในเรื่องของการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ สินค้าการเกษตร ดิจิทัล อุตสาหกรรมอาหาร และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะดำเนิน
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนประเทศ Thailand 1.0 ถึง 4.0 ภายใต้ศาสตร์พระราชา เพื่อนำพาประเทศไปอยู่ ณ จุดใด ซึ่งทำได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ขอขอบคุณภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่ EEC ในครั้งนี้ รวมถึงบริษัทต่างชาติในพื้นที่ EEC ที่จ้างคนไทยทำงาน เพราะความคิดของรัฐบาลคือ ต้องการให้ประชาชนมีงานทำหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนทำอยู่ทุกวันนี้จะเป็นกุศลให้แผ่นดินนี้ ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ทำให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย มีชื่อ-นามสกุล เราจึงต้องตอบแทนแผ่นดินและจะได้สิ่งดี ๆ กลับมา โดยขอความร่วมมือจากประชาชนทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ต้องทำด้วยกันทุกคน กล่าวคือ ประชากรไทย 70 กว่าล้านคน ต้องช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ เราคนไทยด้วยกันทุกคนต้องช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สร้างโอกาส และความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมประเทศชาติ
ด้วยเหตุที่การจัดการศึกษาจึงต้องคำนึงถึงการมีงานทำและรายได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสถานศึกษาทุกระดับทั้งของรัฐและเอกชน ต้องช่วยกันคิดเพื่อผลิตบุคลากรออกมาให้รองรับกับตลาดงานในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตด้วย เพราะฉะนั้นการเพิ่มเติมความรู้ให้ประชาชน ก็ต้องมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน เช่น อาจจะเริ่มต้นพื้นฐานตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาปี 1 หรือกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ก็ต้องสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เองได้ ไม่เรียนตามเพื่อน มิฉะนั้นบางสาขามีผู้เรียนจำนวนมากจบแล้วออกมาไม่มีงานทำ จึงฝากข้อคิดในเรื่องนี้ หากสังคมดี ทุกคนก็ดีไปด้วย
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไปมาก แต่ในที่สุดเราก็ต้องแข่งขันกันให้ได้ ซึ่งการแข่งขันในที่นี้คือ การแข่งขันกับตัวเอง เพื่อให้เป็นตัวเลือกที่มากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ และในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ ทุกอย่างต้องมีการแข่งขันทั้งสิ้น เช่น เมื่อเรียนจบ ปวช. หรือ ปวส. หากต้องการใบปริญญาก็ต้องเรียนต่อ เพื่อให้ตัวเองมีงานทำในระดับที่สูงขึ้น หรือการรับสมัครคนเข้าทำงาน ก็จะพิจารณาถึงความหลากหลายในการทำงาน
ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติดำเนินต่อไปได้ ทำให้ตนเองมีความสุขอย่างพอเพียง ด้วยการมีธุรกิจมีอาชีพที่สูงขึ้น พร้อมทั้งฝากให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องความมั่นคงและการบิดเบือนข้อมูล ถือเป็นการแก้ปัญหาจากข้างล่าง ตลอดจนขอให้หน่วยงานในส่วนท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. เป็นผู้ดูแลประชาชน เพราะหน่วยงานเหล่านี้คือผู้ที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด
การจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในปัจจุบัน ขอให้ตั้งเป้าหมายสุดท้าย คือ เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ และส่งเสริมให้คนมีงานทำ หรือเตรียมคนทำงานในสถานประกอบการ นำประเทศไปสู่ Smart Thailand แต่ปัญหาหนี้ครูที่มีจำนวนมากก็อาจส่งผลกระทบต่อการสอนได้ ส่วนการอาชีวศึกษาที่ยังคงขาดในเรื่อง STEM Education ก็ต้องพัฒนาในส่วนนี้ให้มากขึ้น
จึงฝากข้อคิดสำหรับสถานศึกษาและครูผู้สอนเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน เพราะปัจจุบันสถานศึกษาส่วนใหญ่ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 ส่วนครูเป็นคนในศตวรรษที่ 20 แต่ในขณะที่ผู้เรียนเป็นเด็กในศตวรรษที่ 21 สถานศึกษาจึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงทั้งสามสิ่งนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองภาคภูมิใจ จบแล้วมีงานทำ และสังคมมีความสุขด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ฝากให้ทุกคนมีจิตใจที่มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อแผ่นดินนี้ เพราะเมื่อเราทำอะไรให้ผู้อื่น สุดท้ายสิ่งนั้นก็จะกลับมา “คนรวยที่ขับรถหรู ๆ อาจจะต้องเปิดกระจกรถมองดูคนจนหรือชาวบ้านที่อยู่บ้านเก่า ๆ เสียบ้าง” เพื่อจะได้เข้าใจและช่วยกัน ย้ำด้วยว่ารัฐบาลต้องการที่จะได้ความเชื่อมั่นจากประชาชน เพื่อให้ประเทศเดินหน้า
จึงขอให้ทุกคนที่มี “สองมือ” อย่าหวั่นใด ๆ แต่พร้อมจะเป็น “สะพาน” ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อปลายทางที่ฝันไว้ของประเทศไทยจะกลายเป็นจริง
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยกล่าวว่า สอศ.ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 หน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และได้มีมติเห็นชอบแผนงานและวงเงินงบประมาณ จำนวน 619.4 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอศ.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวม 13 ศูนย์ โดยได้ร่วมกันวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน ทำงานแบบบูรณาการ ประสานพลังประชารัฐร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อสร้างเด็กอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ มีความสามารถด้านวิชาชีพ โดยวางเป้าหมายกำหนดแผนการผลิต และพัฒนากำลังคนในระยะเวลา 5 ปี พร้อมเสริมทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน ให้มีความพร้อมที่จะทำงานในสถานประกอบการด้วย
โดยมีเป้าหมายในการผลิตและพัฒนากำลังคนตามแผนระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) จำนวน 194,675 คน เน้นการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและตามความต้องการของตลาดแรงงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ EEC โดยยืนยันว่า สอศ.มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกด้าน เช่น การเรียนการสอน การเพิ่มศักยภาพครูผู้สอน การจัดหาและพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ การจัดฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ (E2E) เป็นต้น
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
20/11/2560