นายกฯ มอบนโยบายพัฒนาพื้นที่พิเศษ

จังหวัดชลบุรี – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและเป็นประธานปิดการประชุมสัมมนา “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน อำเภอสัตหีบ ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีผู้บริหารให้การต้อนรับและร่วมรับฟังนโยบายกว่า 1,500 คน อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลัก ศึกษาธิการภาค 18 ภาค, คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดที่มีโครงการพื้นที่พิเศษ 35 จังหวัด ๆ ละ 30 คน, ศึกษาธิการจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีโครงการพื้นที่พิเศษ 42 จังหวัด, ผู้บริหารการศึกษา, ผู้ประกอบการ

• พบปะครั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศ เพราะเด็กเยาวชน ครู บุคลากรทางการศึกษา มีจำนวนมาก เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีบทบาทสร้างคนให้มีความรู้ ให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักประเทศ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี นำความรู้ความสามารถขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ในวันนี้จึงต้องการมาพบปะกับทุกคน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการบริหารประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งทุกคนคือผู้ชี้ชะตาประเทศในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการทำงานต่าง ๆ และในฐานะที่เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ก็ต้องทำงานให้ดี นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ต้องยอมรับว่าประเทศของเรา ยังมีปัญหาหลากหลายด้านที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เราเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกัน ตามคำกล่าวที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงขอฝากให้ช่วยกันพินิจพิจารณารายละเอียดและต้นตอของแต่ละปัญหาอย่างถี่ถ้วน โดยนำหลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เข้ามาช่วยแก้ปัญหา

ให้เชื่อมโยงการศึกษาทั้งในระบบ-นอกระบบ-การศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อดึงความร่วมมือทุกภาคส่วน

ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ ที่จัดโดยรัฐและเอกชน การศึกษานอกระบบ สำหรับผู้พลาดโอกาสทางการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ตามความสนใจและตามบริบทในการพัฒนาพื้นที่

ดังนั้น วันนี้เรารับผิดชอบคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ จึงต้องบริหารจัดการให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานในกระทรวงทุกหน่วยต้องร่วมมือกันก่อน เมื่อนั้นการจะดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยจัดการศึกษา ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ต้องส่งเสริมให้เด็กมีความรู้รอบด้าน

โลกวันนี้เป็นยุคแห่งโลกาภิวัตน์ ไม่มีพรมแดน สามารถเข้าถึงได้รวดเร็วขึ้นด้วยดิจิทัล การสร้างเด็กและเยาวชนในยุคโลกาภิวัตน์ จึงต้องส่งเสริมพัฒนาให้เด็กมีความรู้รอบด้าน ทั้งสายสามัญ อาชีพ ทักษะชีวิต การติดต่อสื่อสาร วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนภาษาที่หลากหลาย พร้อมเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เพื่อเป็นแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ให้อยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิทยาการ เทคโนโลยี ภัยคุกคามต่าง ๆ ให้ได้ เพราะหากเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะยิ่งล้าหลัง

ในส่วนของทักษะ นอกจากเด็กจะต้องมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะวิชาชีพ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความมีระเบียบวินัยแล้ว ต้องทำให้เด็กรู้จักตัวเอง รู้ความต้องการและความถนัดของตัวเอง เพื่อตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งในเรื่องการเรียนและการประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง พ่อแม่ และครอบครัวด้วย

วันนี้รัฐบาลต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง แต่ประเด็นคือได้ทำงานครบถ้วนแล้วหรือยัง ที่จะมีวิธีปฏิบัติแนวทางที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน วันนี้ยังพบว่าเด็กหลายคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต เมื่อถามก็ตอบไม่ได้ จึงต้องส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่พิเศษ

ในความเป็นจริง ทุกพื้นที่ของประเทศทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร คือ “พื้นที่พิเศษ” ที่รอให้พวกเราทุกคนเข้าไปช่วยพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการก็ได้สนับสนุนการดำเนินการในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนากำลังคนของประเทศ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน, การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ, การขับเคลื่อนการศึกษาแบบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”, การขับเคลื่อนการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนโครงการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนพื้นที่สูง และเกาะแก่ง โดยได้มีการวางแผนงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แล้วด้วยนั้น

แต่แน่นอนว่า การที่ประเทศจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้นั้น ต้องเกิดจากการที่คนในประเทศมีหลักคิดที่ถูกต้อง พร้อมเรียนรู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงปรับตัว ดังนั้น เราจะต้องสร้างคนด้วยความคิดใหม่ วิธีการใหม่ หลักคิดใหม่ พร้อมเรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา เพื่อสร้างให้เป็นพื้นฐานที่จะปรับเปลี่ยนและประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโดยรวม ที่จะช่วยให้เกิดผลลัพธ์เร็วขึ้น มากขึ้น

ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่พิเศษ นอกจากจะมีแผนแม่บทหรือยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาแล้ว เรื่อง “คน” ยังถือว่ามีความสำคัญที่สุด ที่จะต้องมาช่วยกัน ภายใต้ความร่วมมือของประชารัฐ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ศาสนสถาน นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียมเข้ามาช่วยจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดน เกาะแก่งต่าง ๆ การเชื่อมโยงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ทุกหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมความรู้และการดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัล ซึ่งอาจขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ส่วนราชการในท้องถิ่น ตลอดจน NGOs ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ อยู่แล้ว

ให้ ศธ.เน้นปฏิรูปทั้งระบบ

หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถดำเนินงานได้เช่นนี้ นั่นจึงจะถือเป็นการปฏิรูปทั้งหมดอย่างแท้จริง และเมื่อนั้นความร่วมมือต่าง ๆ ก็จะตามมา เพราะจะหวังให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขปัญหาทุกอย่างคงไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน

ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาของหน่วยงาน ต้องมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ทุกส่วนมีความเชื่อมโยงการขับเคลื่อนไปสู่ “บวร” ทั้งบ้าน วัด และโรงเรียน เพื่อให้การศึกษาเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายโดยตรงในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนให้ภูมิภาคสามารถพัฒนาศักยภาพและจุดเด่นให้มีความแข็งแรงด้วยตัวเอง ส่วนเยาวชนก็ต้องมีการเรียนรู้สิ่งสำคัญต่าง ๆ ในชุมชนของตนเอง นำความสามารถผนวกกับจุดเด่นในชุมชน เพื่อเป็นการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองอีกด้วย

หนุน กศน.-อาชีวะ-อุดมศึกษา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เข้าถึงประชาชนทุกคนทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อสร้างคนคืนสู่สังคม ให้ประชาชนได้เรียนรู้ตามความต้องการ โดยจะต้องปรับหลักสูตรและวิธีการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ได้เรียน คนทำงานที่ต้องการเรียนเพิ่ม ต้องการให้ กศน. เข้าถึงในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ทหาร แรงงานในโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้คนเหล่านี้สามารถกลับมาเรียนต่อและได้รับวุฒิหรือเทียบวุฒิการศึกษาได้ รวมถึงให้คนไทยที่เป็นช่างเก่ง ๆ แต่ไม่มีวุฒิการศึกษา ได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น เพราะตอนนี้เราจะมัวรอแต่การสร้างคนจากการศึกษาในระบบคงไม่ทัน แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเก่งที่มีอยู่ได้ช่วยพัฒนาประเทศ ให้คนที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ได้รับการต่อยอดความรู้เพิ่มเติม เพื่อคลี่คลายปัญหาบัณฑิตตกงานอีกทางหนึ่ง ดังนั้น กศน. จะเป็นหลักในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐบาล ให้ประชาชนได้เรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ เท่าทันวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และที่สำคัญคือมีอาชีพและมีรายได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ส่วนของการอาชีวศึกษาก็เช่นกัน ต้องเปิดโอกาสให้คนทำงานได้กลับไปเรียน และได้วุฒิการศึกษาเพื่อต่อยอดในอาชีพ ตลอดจนเทียบวุฒิจากประสบการณ์การทำงานหรือนำไปลดเวลาเรียนได้ด้วย ส่วนปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษานั้น ยังเกิดเหตุทะเลาะให้เห็นกันอยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวที่ต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูก ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเด็กอาชีวะ ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากส่งลูกหลานมาเรียนเพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการและทุกคนในสังคมช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ต่อไปด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ในการพัฒนาท้องถิ่น เกาะเกี่ยวกับชุมชนให้ได้มากที่สุด ต้องทบทวนการทำงานและหลักสูตรที่เอื้อต่อการผลิตคนออกสู่ตลาดแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่และประเทศ พร้อมติดตามการมีงานทำหลังจบการศึกษา เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการจัดการศึกษา การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็จะใช้สำหรับวางแผนการบริหารจัดการอย่างมีระบบต่อไปด้วย โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยพิจารณาเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่อาจจะต้องมีการทบทวนการดำเนินงานเพื่อว่างแผนตั้งแต่ต้นทาง คือการเรียนต่อของนักเรียนในระดับอุดมศึกษาในสาขาต่าง ๆ ที่จะต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศด้วย

“ครู” ต้องเป็นผู้รอบรู้และช่วยชี้นำการทำความดีแก่เด็ก

นอกจากครูจะต้องรู้ข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้านและครอบคลุม เพื่อบอกทิศทางและชี้นำสิ่งต่าง ๆ ให้นักเรียนก้าวทันวิทยาการความรู้สมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างการเรียนรู้ทางสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำ, แผนที่การเกษตรออนไลน์, การเรียนรู้เรื่อง Smart Farmer ฯลฯ แล้ว

ครูยังต้องสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรที่ดี ก็ควรทำ และอะไรที่ไม่ดี ก็ไม่ควรทำ พร้อมมีจิตสาธารณะและนึกถึงผู้อื่นด้วย เพราะหากทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรม รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ก็จะทำให้เกิดองค์กรที่มีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น และมีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของระบบการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งนึกถึงคนอื่นที่เป็นเจ้าของประเทศด้วย เพราะนี่คือหน้าที่ของพวกเราทุกคนและเป็นหน้าที่ของข้าราชการทุกภาคส่วน

หากคิดได้แบบนี้จะเชื่อมโยงไปสู่การมีวินัย ความรับผิดชอบ และการทำงานเป็นทีม

เน้นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ

ในการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษและการศึกษาของไทย เห็นว่าต้องมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี, แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ตลอดจนยุทธศาสตร์และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นกรอบในการทำงาน พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ที่มองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยด้วย เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้และวางแผนการเรียนและประกอบอาชีพของลูกหลาน เป็นการสอนหลักคิด ให้ทุกคนได้คิดไปข้างหน้า คิดถึงแผนการทำงานและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการศึกษา ยกตัวอย่างดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ไม่ได้เป็นหน้าที่ของทหารหรือฝ่ายความมั่นคงเท่านั้น แต่ทุกหน่วยงานควรเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนกับการรักษาความมั่นคงของชาติ เพื่อให้เกิดความรัก สามัคคี ยึดมั่นในศาสนา ป้องกันการก่อการร้าย การค้ายาเสพติด เป็นต้น รวมทั้งร่วมกันจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับพื้นที่ ให้เด็กรู้ว่าในพื้นที่มีอะไรดีที่เป็นเอกลักษณ์หรือจุดเด่น อาทิ เกษตรท้องถิ่น อุตสาหกรรมและโรงงานในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรักในท้องถิ่น

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น สอนให้สร้างการเกษตรแบบเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยเน้นการสอนหลักคิดให้เด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความคิดใหม่ ๆ และคิดให้เป็น

  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน  ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องของหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน เนื่องจากหลักสูตรคือสิ่งสำคัญ จึงต้องจัดหลักสูตรให้เข้าถึงพื้นที่ และร่วมมือกับภาคเอกชนจัดการศึกษาแบบทวิภาคี โดยจะเป็นการพัฒนากำลังคนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม จะต้องส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดค้นหาจุดแข็งและโอกาสในการจัดการศึกษาของตนเอง

  • ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ฝากครูให้สอนเรื่องการอยู่ร่วมกันและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กตั้งแต่เล็ก ๆ ซึ่งเมื่อเด็กได้เรียนรู้ ก็เท่ากับว่าพ่อแม่จะได้รับรู้ไปด้วย ทำให้เกิดการซึมซับการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย แต่ขอเน้นย้ำไว้ด้วยว่า การถ่ายทอดของเด็กไปยังพ่อแม่ ครูต้องไม่สอนให้เด็กก้าวร้าวต่อพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย

  • ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  ขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมให้มีการทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น, การปรับปรุงคณะกรรมการและการปฏิรูปโครงสร้างต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมจัดการศึกษาตั้งแต่การร่วมกันคิดหลักสูตร ให้ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง มิใช่การตัดเสื้อตัวเดียวแล้วให้ทุกคนมาใส่ทั้งหมดเหมือนที่แล้วมา

นอกจากนี้ การประชุมหารือเพื่อดำเนินงานต่าง ๆ ต้องได้ข้อสรุปและข้อยุติ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีหน้าที่ของตนเองและมุ่งหวังที่จะใช้เวลาทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว แต่ในกระบวนการประชุมหารือร่วมกัน ขอให้เน้นถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้น และวางแผนที่จะดำเนินการในช่วงต่อไป เพื่อจะทำให้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เร็วที่สุด และสามารถเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามประเด็นต่าง ๆ ได้ทันเวลา

การใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำถึงการใช้งบประมาณด้านการศึกษา โดยขอให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอของบประมาณที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ ครอบคลุมในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ดีว่าแต่ละพื้นที่ต้องใช้งบประมาณเท่าไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการแบ่งส่วนภูมิภาคออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้จัดสรรงบประมาณด้านโครงสร้างเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาในแต่ละภาคให้มีความแข็งแรงด้วยตัวเอง ทั้งการคมนาคมขนส่ง ถนน ตลอดจนไฟฟ้าและประปาให้ครบทุกหมู่บ้าน ส่วนงบบูรณาการที่จะจัดสรรเพิ่มเติมลงไปยังพื้นที่นั้น จะเป็นอีกส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะสร้างมูลค่าและต่อยอดเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงทุนไปแล้ว ทั้งการวิจัย นวัตกรรม การดึงบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ครู กลับคืนสู่พื้นที่ เพื่อพัฒนาความเจริญแก่ภาคต่าง ๆ ให้มากขึ้น

การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ท้ายสุดนี้ ขอฝากประเด็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ของ UNESCO ประกอบด้วยการพัฒนา 17 ประการ ซึ่งในส่วนของการศึกษาอยู่ในเป้าหมายพัฒนาที่ 4 “การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ” ที่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์การศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีแบบองค์รวม เพื่อเป็นโลกที่ทุกคนได้รับจากการเรียนรู้คุณค่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน โดยต้องสร้างความสามารถเพื่อการตัดสินใจ โดยมีพื้นฐานของชุมชน ความอดทนของสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม ประชากรที่ปรับตัว และคุณภาพของชีวิตทั้งหมดที่ได้รับการพัฒนาด้วยวิธีการที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบการมีส่วนร่วมและการคิดอย่างมีข้อมูล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงคุณลักษณะหลักของโรงเรียนที่ยั่งยืน ต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น

  • การศึกษาที่ยั่งยืน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เพื่อให้เด็กนำไปคิด และประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาของชาติ ส่งเสริมการปฏิบัติด้วยพื้นฐานการคิดอย่างพอเพียงประกอบด้วยรากฐาน 3 ประการ คือ ความพอประมาณ  ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อปลูกฝังทัศนคติและการฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างพอเพียงจนเป็นนิสัยติดตัวเด็ก ให้เป็นนักคิดตลอดชีวิต รู้จักพึ่งพาตนเอง และมีวิถีชีวิตที่มีความสมดุล สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังความมีระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรม การใช้หลักเหตุผล มีความรอบคอบ พร้อมกับใช้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมได้

  • การมุ่งมั่นต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมเชิงบวก ตลอดจนให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมวัฒนธรรม

  • การสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สร้างผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงของหน่วยงาน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกัน

  • การพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องสำหรับครูและผู้มีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้เด็กรักครู สำนึกพระคุณครูและเคารพครู ส่วนครูก็ต้องรักเด็ก ทุ่มเทและเอาใจใส่เด็กให้มาก ๆ

  • การขยายการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับ ซึ่งให้ความสำคัญกับการร่วมมือกันของผู้ลงมือปฏิบัติที่หลากหลาย มีการออกแบบกระบวนการดำเนินงานพื้นฐานเป็นคู่มือปฏิบัติงาน ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน

  • การพัฒนาให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม การศึกษาแบบยั่งยืน มีการบูรณาการของรูปแบบการสอนด้วยการแก้ไขปัญหาเป็นฐานและการทดลอง ที่จะส่วนส่งเสริมให้ผู้มีส่วนร่วมเป็นนักวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และมุ่งการเปลี่ยนแปลง

  • เน้นการสอนด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์  การเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องการให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย

  • การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School) ด้วยหลักความยั่งยืน ให้มีหลักสูตรที่มุ่งมั่นต่อความยั่งยืน มีกิจกรรมฝึกฝนคุณลักษณะความยั่งยืนทุกด้านของทุกคนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนฝึกความชำนาญในเรื่องการศึกษาเพื่อความยั่งยืน พร้อมประสานกิจกรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนระหว่างโรงเรียนและชุมชนด้วย และความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชน

นอกจากนี้ ฝากให้กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำให้เด็กนักเรียนทุกคน เขียนเรียงความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อให้เด็กรู้ที่มาที่ไปของตนเอง รู้จักตัวตน ส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น  เขียนเป็น และรู้ถึงบุญคุณของบูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษที่รักษาแผ่นดินไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อเด็กจะได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวรายงานการประชุมในครั้งนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดขึ้นเพื่อทบทวนการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษา และการขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลในทางปฏิบัติของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดน รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาคุณภาพการศึกษา และปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคนด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องหลักของการพัฒนาประเทศ

และจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรอบประเทศ 10 พื้นที่ การพัฒนาเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งสิ้น ซึ่งในห้วงที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่ต้องดำเนินการพิเศษเร่งด่วน ด้วยการจัดโครงการต่าง ๆ ของส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนตามกลไกประชารัฐ ให้สนับสนุนงานของรัฐบาลทั้งมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เพื่อให้การทบทวน ปรับปรุง พัฒนา และการเตรียมแผนงานให้เกิดประสิทธิภาพในห้วงต่อไป จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มาร่วมประชุมตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยได้กำหนดการประชุมเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 4-5 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการประชุมระดับศึกษาธิการจังหวัด เพื่อทบทวนแผนงานที่ดำเนินการแล้วของห้วงที่ผ่านมา ส่วนขั้นที่ 2 ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน เป็นการประชุมระดับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดทั้งคณะ เพื่อนำแผนมาบูรณาการ รวมทั้งนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาในการวางแผนในห้วงเวลาต่อไป

และในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 เป็นการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน รวมถึงภาคประชาสังคม ได้นำแผนมาพัฒนาเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ โดยได้เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มาบรรยายเรื่องที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องพัฒนาแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่อไปให้เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการสู่ความเป็น THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล

ผลจากการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธาน ได้ระดมความคิดด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาแผนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และแผนปฏิบัติราชการในมิติการศึกษาตลอดจนมิติอื่นที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน พร้อมที่จะขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ในห้วงเวลาต่อไป

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแผนที่จะขยายผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัดให้เชื่อมโยงครอบคลุมเป็นกลุ่มจังหวัดและระดับภาค เพื่อให้สอดคล้องรองรับตามทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติของรัฐบาล รวมทั้งขยายการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาจากพื้นที่ EEC ที่ดำเนินการแล้วไปยังภาคต่าง ๆ เพื่อตอบสนองการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของการพัฒนาที่ยั่งยืน


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ถ่ายภาพ: อิทธิพล รุ่งก่อน, ปรียาพร โพธิรินทร์
26/09/2560