นโยบายการกีฬาแห่งชาติ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานศึกษาถือเป็นสถานที่ที่สำคัญต่อการพัฒนาการกีฬาแก่นักเรียน เนื่องจากเด็กอยู่ที่โรงเรียนทุกวัน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาในสถานศึกษา เชื่อมโยงกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมกีฬาด้านต่าง ๆ โดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยพัฒนานักกีฬา พร้อมหาวิธีการสร้างคนที่มีความสามารถด้านกีฬา ให้มีศักยภาพไปแข่งขันในระดับโลก และแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนให้มาร่วมสนับสนุนด้วย
ในส่วนของการแข่งขันกีฬา eSports หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกยุคดิจิทัล เปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาผ่านการเล่นเกมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับเทคโนโลยี มากกว่าการเล่นเกมส์กีฬาเพียงอย่างเดียว จึงขอให้ทุกฝ่ายปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันกีฬา eSports มากขึ้น
ในส่วนของการแข่งขันกีฬา eSports ถือเป็นการเตรียมคนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไม่ควรต่อต้าน เพราะให้มากกว่าเพียงแค่การเล่นเกม แต่ควรใช้ประโยชน์จาก eSports ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ออกแบบเกม เพื่อนำเกมเข้ามาสอนในสถานศึกษา ที่จะเกิดการเรียนรู้ด้านดิจิทัลผ่านเกม นอกจากนี้ มีการจัดให้ eSports เป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการกีฬามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การร่วมมือกับสถาบันการพลศึกษา กก. ในการจัดตั้ง “ห้องเรียนกีฬา” จำนวน 9 โรงเรียนใน 8 จังหวัด โดยได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่มีรูปร่างและส่วนสูงตามมาตรฐาน จากนั้นพัฒนานักเรียนด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้มีศักยภาพทางกายและมีทักษะด้านกีฬาที่ดี ซึ่งนโยบายห้องเรียนกีฬาเปรียบเสมือนโครงการที่เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่าง ศธ. กับ กก. โดยในปัจจุบันมีนักเรียนในโครงการประมาณ 1,200 คน
อย่างไรก็ตาม ศธ.มีความยินดีที่จะบูรณาการงานด้านต่าง ๆ กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการกำหนดแผนนโยบายการกีฬา, งบประมาณ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือประเด็นอื่น ๆ อาทิ การปรับหลักสูตรเพื่อเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาพลศึกษาและสุขศึกษา จากเดิม 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้มากเพียงพอที่จะสร้างความตระหนักเรื่องการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และสมรรถภาพทางร่างกายแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งอาจช่วยพัฒนาส่งเสริมเยาวชนที่จะเป็นนักกีฬาของชาติได้ และขอให้ต้องคำนึงถึงค่านิยมของเด็กและผู้ปกครอง ที่ต้องการเรียนวิชาการอย่างเข้มข้นด้วย จึงควรมีการพิจารณาร่วมกันอย่างรอบด้านและคำนึงถึงบริบทของสถานศึกษา เพื่อประโยชน์ในการจัดชนิดกีฬาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่