นโยบายการศึกษาไทยในรัฐบาลปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ –
ที่สำคัญจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับบางจังหวัด เช่น กระบี่ ที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและปาล์มน้ำมัน แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ มีเพียงวิทยาเขตเท่านั้น ซึ่งมีผลทำให้ขาดนักวิชาการอุดมศึกษา นอกจากนี้ผู้คนที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งสองส่วนใหญ่ก็เป็นคนนอกพื้นที่ ในขณะเดียวกันเด็กๆ ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายจำเป็นต้องไปเรียนต่อที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดเมื่อจบการศึกษาแล้ว มักไม่ค่อยกลับไปทำงานที่จังหวัดของตนเอง เช่นเดียวกันกับจังหวัดเล็กๆ หลายแห่งที่พบมา เช่น พิจิตร เป็นต้น
เพราะฉะนั้น หากเราไม่เปิดโอกาสให้จังหวัดเล็กๆ นำคนกลับมาพัฒนาในจังหวัดของตนเอง คงไม่ได้แล้ว จึงขอฝากให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณา นอกจากจะให้ความสำคัญด้านการบริหารงานบุคคลแล้ว ขอให้ช่วยกันพิจารณาแนวทางว่าควรทำอย่างไรให้สามารถจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไปให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดนั้นๆ ได้มากที่สุด
นอกจากจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสไปถ่ายทอดให้แก่ครู ผู้บริหาร นักเรียน และโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งพระราชดำรัสด้านการศึกษาที่สำคัญๆ
– การศึกษาเพื่อสร้างชาติ รัชกาลที่ 5
– ความรู้กับคุณธรรมจะต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
– หลักการตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นักเรียน : “ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เป็นคนเรียนเก่ง ช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิได้สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อนเพื่อให้ตนเองได้ลำดับดีๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง” (11 มิถุนายน 2555)
ครู : “ปัญหาหนึ่งคือ การขาดครูเพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้นก่อนคัดเลือกเด็กที่จะพัฒนา ต้องพัฒนาครูก่อนให้พร้อมที่จะสอนเด็กให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงจะต้องคัดเลือกครูและพัฒนาครู ต้องตั้งฐานะในสังคมของครูให้เหมาะสม และปลูกจิตสำนึก โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
จากพระราชดำรัสดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทุกพระองค์ทรงเน้นถึงเรื่องการศึกษา ซึ่งนอกจากจะตรัสถึงการเรียนแล้ว ได้เน้นถึงการอบรมและพัฒนาเพื่อให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม ส่วนครูผู้สอนก็ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาการขาดครูและความจำเป็นในการอบรมพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพก่อนจะไปสอนเด็ก โดยครูต้องมีฐานะที่เหมาะสมด้วย
ตัวอย่างโครงการของการน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในการศึกษา เช่น “โครงการโรงเรียนคุณธรรม” ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากโครงการกองทุนการศึกษา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์เพื่อให้สถานศึกษาสร้างคนดีให้แก่บ้านเมืองโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งหมด ปัจจุบันโครงการโรงเรียนคุณธรรมเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีผลต่อความสำเร็จของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างมาก คือ ผลการเรียนและผลสอบ O-NET สูงขึ้น นักเรียนเรียนต่อได้มากขึ้น อัตราการออกกลางคันลดลง ซึ่งระยะต่อไปจะขยายโครงการไปสู่วิทยาลัยอาชีวศึกษาคุณธรรม มหาวิทยาลัยคุณธรรม โรงพยาบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “องค์ประกอบของระบบการศึกษาที่ดีระดับโลก” ซึ่งเป็นเนื้อหาด้านการศึกษาจากหนังสือเรื่อง A World-Class Education เขียนโดย Vivien Stewart ได้อธิบายถึงองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาที่จะทำให้นโยบายการศึกษาประสบความสำเร็จ 8 ข้อ คือ 1) การมีวิสัยทัศน์และภาวะความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง 2) การตั้งมาตรฐานระดับสูง 3) ความมุ่งมั่นตั้งใจและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4) การได้มาและการคงไว้ซึ่งครูและผู้บริหารที่มีคุณภาพ 5) ความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกัน 6) การบริหารจัดการที่ดีและมีความรับผิดชอบ 7) การสร้างแรงจูงใจแก่เด็กนักเรียน 8) การมุ่งเน้นพัฒนาเพื่ออนาคตในระดับโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดนี้พยายามดำเนินการทั้ง 8 ข้อ ขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้
ในส่วนสำคัญอีกด้านของการศึกษา คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กในชนบทที่ด้อยโอกาสทางการศึกษากว่า 4.2 ล้านคน ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเร่งพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและเยาวชนเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการฝึกทักษะภาษาอังกฤษจากแอพพลิเคชั่น EchoEnglish ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านโทรศัพท์มือถือได้แล้วทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod
รมช.ศึกษาธิการ ฝากข้อคิดเกี่ยวกับ “ครู” ผู้เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการศึกษา จึงได้ตั้งคำถามแนวทางการพัฒนาครู ได้แก่ คุณภาพของครูในปัจจุบันเป็นอย่างไร, มีปัญหาขาดแคลนครูหรือไม่และขาดแคลนในวิชาใดบ้าง, นักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับวิชาชีพครูอย่างไร, มีกลยุทธ์ในการเชิญชวนให้เด็กเก่งและมีความมั่งมั่นที่จะเป็นครูมาสมัครเรียนครูหรือไม่, เงินเดือนเริ่มต้นของครูเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ เป็นอย่างไร, มีความเข้มงวดในกระบวนการคัดสรรผู้ที่จะมาสมัครเป็นครูอย่างไร, สถาบันอบรมครูในปัจจุบันมีศักยภาพเพียงใด, ครูที่จบใหม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูอาวุโสอย่างน้อย 1 ปีหรือไม่, มีระบบการประเมินครูประจำปีที่ดีหรือไม่, มีแผนพัฒนาครูที่ครอบคลุมและเป็นระบบหรือไม่, มีระบบส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพครูหรือไม่ และระบบการคัดเลือกและพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนควรปรับปรุงและพัฒนาหรือไม่
คำถามเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพต่อระบบการศึกษาต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
21/4/2559