นโยบายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา: โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน



นพ.อุดม คชินทร  กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้กับข้าราชการและบุคลากรของ สกอ. ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษาในอนาคตอันใกล้


โดยเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก อาทิ การอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีความทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการเรียนไปพร้อม ๆ กับการทำงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบและหลายอาชีพ รวมทั้งรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า


สำหรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ได้ออกแบบให้เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยมีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมงานของสถาบันอุดมศึกษา ไม่เน้นการควบคุม แต่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีอิสระในการบริหารจัดการเช่นเดิม อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อม ๆ กับการประสานการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ที่จัดหลักสูตรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่น ๆ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้


ส่วนการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในกระทรวงอุดมศึกษานั้น เกิดจากแนวคิดการบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา


แม้ที่ผ่านมาการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้นำเรื่องการวิจัยหรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่หากมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า หากสามารถบูรณาการร่วมกันได้จริง ๆ ก็จะทำให้เกิดพลังขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างจริงจัง


อย่างไรก็ตาม ควรผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นก่อน เพราะได้ร่างกฎหมายต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของประเทศด้วย














“เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก
แต่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง
และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม


ย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่
ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ
และทิศทางการอุดมศึกษาโลก
ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย
พัฒนาคนให้ทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง
เน้นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน
ปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ
และหลากหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่”


ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร
รมช.ศึกษาธิการ



Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร