มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ณ อาคาร KX
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กราบบังคมทูลรายงานในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 ดังนี้
ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงรับเชิญเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุดมศึกษา เรื่อง การศึกษาวิทยาศาสตร์และการปฏิรูประบบอุดมศึกษา ทั้งที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย อีกทั้งยังทรงตรัสถามถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเรื่อยมา รวมทั้งทรงพระกรุณาเสด็จฯ เปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน
โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริที่ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทรงมีพระราชดำริให้ประเทศไทยได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต่างประเทศ และทรงประสานให้นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการของสหรัฐอเมริกา ในระยะเวลา 15 ปี ของการดำเนินโครงการ ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาได้ตกลงกันในการสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีการจัดประชุมครั้งแรกที่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2544
สำหรับการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 7 ภายใต้หัวข้อ “สะเต็มศึกษา : วัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับกำลังคนในศตวรรษที่ 21” นี้ ประเทศไทยมีโอกาสรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีกวาระหนึ่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 ซึ่งปวงชนชาวไทยได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลฤกษ์นี้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และในปีนี้มหามงคลสมัยวันคล้ายวันพระราชสมภพ ที่จะเวียนมาบรรจบอีกครั้งในวันที่ 2 เมษายน 2559 ซึ่งประชาชนชาวไทยจะร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ใต้ฝ่าละอองพระบาทจะทรงเจริญพระชนมายุ 61 พรรษา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป
สำหรับผลของการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่นำมาสู่การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องวิทยาลัยชุมชน : รูปแบบสถาบันอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญา นำมาประกอบการพิจารณาการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน และเกิด พ.ร.บ. วิทยาลัยชุมชน พ.ศ.2558, เรื่องการจัดการเรียนการสอนแนวศิลปวิทยาศาสตร์ และการนำเสนอแผนที่จะพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย (พ.ศ.2549-2556) นำมาสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งมีการนำร่องสู่การปฏิบัติในหลายโครงการ เช่น โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ, โครงการนำร่องวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College – SBTC) เพื่อจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งโครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียน เช่น โครงการ พสวท., โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตลอดจนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควก.) และการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning) ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนำมาสู่การจัดการประชุมในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ เรื่อง สะเต็มศึกษา : วัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับกำลังคนในศตวรรษที่ 21
โดยมุ่งหวังให้มีการขยายผลการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มให้กว้างขวางยิ่งขึ้นครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจะมีการนำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในระดับนโยบายและการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะนำผลจากการประชุมไปใช้ประกอบการจัดทำร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2574) ต่อไป
ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 ข้าพเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาตเบิกตัวนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ Dr.Joan Ferrini-Mundy, Assistant Director, Directorate for Education and Human Resources, National Science Foundation นำเสนอปาฐกถาพิเศษในแต่ละประเด็น
ในโอกาสนี้ ได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 โดยมีใจความดังนี้
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานประชุมโต๊ะกลมไทย – สหรัฐฯ ครั้งที่ 7 และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้อวยพรวันคล้ายวันพระราชสมภพ ครบรอบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณเพื่อนจากสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร และไต้หวัน โดยเฉพาะ Dr. Chang Yan Davis ที่ปรึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ร่วมมือในการก่อตั้งการประชุมโต๊ะกลมไทย – สหรัฐฯ มาระยะเวลากว่า 10 ปี และตามรายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดการประชุมโต๊ะกลมไทย – สหรัฐฯ มาแล้ว 6 ครั้ง โดยประเทศไทยและสหรัฐฯ สลับกันเป็นเจ้าภาพ การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2544
สำหรับการประชุมปีนี้ คณะอนุกรรมการการประชุมโต๊ะกลมไทย-สหรัฐฯ ได้กำหนดหัวข้อการประชุมว่า “สะเต็มศึกษา : วัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับกำลังคนในศตวรรษที่ 20 (STEM Education : Learning Culture of the 21st C Workforce) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยเน้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และเพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนในศตวรรษที่ 21
สะเต็มศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมีการจัดการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เช่น โครงการเรียนรู้ฐานวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ด้วยสะเต็มศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรเน้นกิจกรรมที่บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงความรู้สู่การทำงานในชีวิตจริง ผู้เรียนจะเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยความสนุก พร้อมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนต้องมีความรู้ด้านศิลปะ ภาษา สังคมศาสตร์ และอื่น ๆ ร่วมด้วย กระบวนการเรียนรู้นี้ยังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ
ในฐานะนักการศึกษา ข้าพเจ้าทราบว่าสะเต็มศึกษามีคุณค่าในการสร้างทักษะ คุณลักษณะของนักเรียน และผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มของประเทศไทย โดยกล่าวถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่กำลังก้าวสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งต้องการกำลังคนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพสูงเข้ากับบริบทการทำงาน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในหัวข้อ นโยบายสะเต็มศึกษาในประเทศไทย (Policy on STEM Education in Thailand)
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สะเต็มศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นกำลังคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตของประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องการการศึกษาด้านสะเต็ม
สำหรับการปฏิรูปการศึกษานั้น เราจำเป็นต้องปฏิรูปให้ถูกทาง เนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาในอนาคตด้วย แนวทางการปฏิรูปการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาสะเต็มศึกษา มีประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ การคัดเลือกครูที่ดีที่สุดและการปรับปรุงหลักสูตรของการศึกษาไทย
การคัดเลือกครูที่ดีและมีความสามารถสูงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากนักวิทยาศาสตร์มีความสนใจที่จะเป็นครู ก็จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาได้มาก นอกจากนี้ ในหลาย ๆ ประเทศ จะมีการดึงคนที่เก่งที่สุดให้มาเป็นครู สำหรับประเทศไทยนั้น เราต้องสร้างกระแสให้คนเก่งเลือกที่จะมาเป็นครู เพื่อให้คนที่มีความสามารถสูงเข้าสู่วงการศึกษาและจะช่วยพัฒนากำลังคนของประเทศได้ อีกทั้งเราต้องร่วมมือกันส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถสูง เพื่อสร้างกำลังคนที่มีความเหมาะสมกับทักษะการทำงานในศตวรรษที่ 21
ในส่วนของการปฏิรูปหลักสูตรด้านต่างๆ จะต้องมีความเชื่อมโยงกัน ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นได้ว่าหลักสูตรในวิชาต่างๆ จะสอดคล้องกัน และถูกวางรากฐานให้มีความเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ผู้เรียนสามารถเห็นภาพ และสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ได้ ด้วยการเชื่อมโยงใน 5 มิติที่สำคัญ คือ หลักสูตร, การสร้างตำรา, การจัดการเรียนการสอนและการสร้างกระบวนการเรียนรู้, การพัฒนาครู ตลอดจนการวัดและการประเมินผล ยิ่งไปกว่านั้นหลักสูตรควรสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและเรียนรู้สิ่งต่างๆ พร้อมทั้งเน้นการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ประเทศไทยต้องการห้องปฏิบัติการเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าไปทดลองและหาความรู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกหรือไม่ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของสะเต็มศึกษา ที่เน้นการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงได้
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น การปฏิรูปตำราเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ในโลกยุคปัจจุบันจะมีความแตกต่างระหว่างตำรา (Textbook) กับสื่อการเรียนในยุคดิจิทัล โดยตำรานั้นจะมีคุณค่าสูง เมื่อต้องใช้เวลาในการอ่านด้วยการเปิดหนังสือทีละหน้า ในขณะเดียวกันตำราเรียนแบบดิจิทัลจะถูกมองว่าเป็นที่เก็บข้อมูลหรือเนื้อหา ซึ่งทำให้คุณค่าของตำราทั้ง 2 ประเภท มีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้ การโค้ช (Coach) หรือการช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ กล่าวคือ การช่วยพัฒนาระบบโค้ชครูให้มีความสามารถสูงและสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของชั้นเรียน ควรทำเป็นรายวิชาและควรทำให้เกิดการยอมรับในกลุ่มโค้ชด้วยกันเอง ซึ่งจะทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์
สิ่งสุดท้ายของปฏิรูปหลักสูตรด้วยกระบวนการเชื่อมโยงหลักสูตรเข้าด้วยกัน คือ การวัดและการประเมินผล การวัดผลและประเมินผลนอกจากจะเป็นตัวสะท้อนว่าเด็กบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเรียนหรือไม่ ยังเป็นตัวช่วยให้เด็กเรียนรู้ขึ้นมา เช่น การตรวจการบ้านเด็กแล้วบอกว่าถูกผิดอย่างไร จะทำให้เด็กรู้ว่าทำสิ่งใดผิดและทำสิ่งใดถูก จากนั้นเด็กจะเกิดการปรับปรุงตัวขึ้นมา การวัดและการประเมินผลที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การศึกษาด้านสะเต็ม คือ การเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นจริง สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ โดยการปลูกฝังให้เด็กมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ สามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดของจริงขึ้นมา ด้วยการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เราต้องสอนให้เด็กมีคุณธรรมควบคู่กับความรู้ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร KX (Knowledge Exchange) โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เปิดโครงการอาคารเคเอกซ์ หรือ อาคาร KX (Knowledge Exchange) ซึ่งเป็น Open Collaboration Platform ทางความรู้ ซึ่งอาคารแห่งนี้จะถูกบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาพูดคุยกัน รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ลงสู่การแก้ไขปัญหาให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างเต็มความสามารถและครบวงจร นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการการพัฒนาการศึกษา มจธ. และนิทรรศการสะเต็มศึกษา และเสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ “Design Thinking”
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
26/2/2559