โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School ริเริ่มขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษา ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือที่ต่างไปจากโครงการโรงเรียนประชารัฐเดิม เพราะมีความร่วมมืออย่างเข้มข้น โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการโรงเรียน

หลักการสำคัญของโครงการ Partnership School เพื่อต้องการให้โรงเรียนมีความคล่องตัวและสามารถบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับอนาคต พร้อมกับการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่และชุมชน โดยมีความอิสระ 3 ส่วน คือ
1. อิสระในการออกแบบหลักสูตรเอง ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของเวลาเรียน ซึ่งจะทำให้เป็นโรงเรียนต้นแบบที่จะสร้างอนาคต สร้างอาชีพให้กับนักเรียน เชื่อมโยงและร่วมแก้ปัญหาของชุมชน
2. อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอนเอง โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ ครูต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องหมั่นตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้ฝึกคิด ให้นักเรียนมาเรียนของจริง ในสถานที่จริง
3. อิสระในการบริหารจัดการเอง โดยรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนามีความพิเศษคือ ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง มีการปลดล็อคระเบียบต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้แทน 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง โดยมีผู้แทนภาคเอกชนเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา เพื่อจะได้นำแนวคิดการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนให้ไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การเริ่มต้นโครงการ โดยคัดเลือกโรงเรียนตามความสมัครใจในปีแรก 50 แห่ง ใน 30 จังหวัด โดยมีภาคเอกชนชั้นนำ 12 หน่วยงาน เข้ามาร่วมสนับสนุนพัฒนาโรงเรียน โดย ศธ.ปลดล็อคกฎระเบียบทุกอย่างเท่าที่กฎหมายเอื้ออำนวย เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้อิสระมากขึ้น เช่น ให้ภาคเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการโรงเรียน เพื่อช่วยกำหนดนโยบายและแผนงานบริหารโรงเรียน ทั้งเรื่องของบุคลากร การจัดการเรียนการสอน และการเงิน, การกำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียนที่พึงประสงค์ โดยภาคเอกชนร่วมสนับสนุนค่าตอบแทนต่าง ๆ, การกำหนดเป้าหมายหรือจุดเน้นของโรงเรียนตามบริบทในแต่ละพื้นที่ อาทิ Smart Farming นักนวัตกร พยาบาล เป็นต้น
ขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้ว 50 โรงเรียน ตั้งแต่เปิดเทอมภาคเรียนนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งแต่ละแห่งจะมีหลักสูตรและการบริหารจัดการจะแตกต่างกันออกไป เช่น
– โรงเรียนวัดจุฬามณี (ชุณหะจันทนประชาสวรรค์) อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มีกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เข้ามาช่วยสนับสนุน เน้นหลักสูตรด้าน Smart Farming โดยจัดหลักสูตรให้นำนักเรียนไปศึกษาดูงานบริษัทใกล้เคียงโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนจากของจริงทุกวันศุกร์ ไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น โรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพื่อต้องการสร้างโรงเรียนต้นแบบตามโครงการที่มีการร่วมพัฒนากับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เชื่อมโยงไปสู่ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาตามโครงการอาชีวะและบัณฑิตพันธุ์ใหม่

– โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสยามพรีเสิร์ฟฟู้ดส์ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชุมชน ท้องถิ่น และผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียน ตลอดจนมีวัดปลักไม้ลายเป็นศูนย์รวมในการส่งเสริมคุณธรรมประเพณี ทำให้นักเรียนเติบโตเป็นกำลังคนที่มีความรู้ทางวิชาการ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนทักษะชีวิต ส่วนโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มมิตรผล โรงเรียนมีจุดเด่น คือ โครงสร้าง นโยบาย และบทบาทที่ชัดเจน มีเทคโนโลยีสนับสนุนการสอน ภูมิทัศน์สะอาด และกว้างขวางเอื้อต่อการจัดกิจกรรมของชุมชน สิ่งสำคัญคือ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน ชุมชน และผู้ปกครองเพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียน ทั้งนี้โรงเรียนยังมีแผนที่จะพัฒนาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำวิจัยและนวัตกรรมในชั้นเรียน, การพัฒนาครูในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการคิดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องการการสนับสนุนงบประมาณจ้างบุคลากรเฉพาะทาง ในส่วนของนักเรียน เน้นส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ ทักษะในศตวรรษที่ 21 นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และจัดทุนสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส

ด้วยรูปแบบโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบขยายไปสู่ 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ และกระจายให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดูแลจัดการศึกษาในพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้กระทรวงเล็กลง โดยกระทรวงจะตามในเรื่องคุณภาพการศึกษาเท่านั้น เพราะกระทรวงไม่ใช่เจ้าของการศึกษา หากแต่เจ้าของที่แท้จริงคือ ประชาชน ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
|