จังหวัดกาญจนบุรี – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการยกระดับคุณภาพกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยทั่วประเทศด้วยศาสตร์พระราชา และพบปะสนทนา “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

● เปิดการประชุมสัมมนายกระดับคุณภาพกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย
เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.30 น. ณ โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท อำเภอเมืองกาญจนบุรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ยกระดับคุณภาพกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ด้วยศาสตร์พระราชา” และบรรยายพิเศษ “การพัฒนาการศึกษาด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” โดยมีผู้บริหารและคณะครูกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังกว่า 650 คน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยใช้แนวปฏิบัติตามหลัก “เบญจวิถี” ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วย 1) เทิดทูนสถาบัน 2) กตัญญู 3) บุคลิกดี 4) มีวินัย 5) ให้เกียรติ เพื่อช่วยสร้างเสริมการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยให้มีความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี สามารถนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนให้เป็นแบบอย่างเดียวกันต่อไป นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะสร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิด และนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่จะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน สร้างความรักสมัครสมานสามัคคี พร้อมจัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ
ในเรื่องของโรงเรียนคุณธรรม ขอเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งได้เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับโรงเรียนคุณธรรมว่า เรื่องของโรงเรียนคุณธรรมอยู่ในพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้นจึงขอให้ครูบาอาจารย์มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ในการอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนของเรา เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ ประเทศชาติจะมีความเจริญรุ่งเรืองเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเด็กในวันนี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งนอกจากจะสอนให้เด็กมีความรู้ทางวิทยาการที่แตกฉานในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นความถนัดความเชี่ยวชาญ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ หรือไม่ว่าจะประกอบอาชีพรับราชการ ตำรวจ หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องให้เขาสามารถดำรงตนยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นทั้งคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนดีมีศีลธรรม และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและศาสตร์พระราชาอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นการระลึกถึงพระองค์ที่จะสถิตเสถียรอยู่ในใจเราตลอดไป
นอกจากนี้ ขอให้น้อมนำพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานสอนประชาชนชาวไทยตลอดระยะเวลา 70 ปี เพื่อพัฒนาการศึกษา อาทิ
“เด็ก ๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยัน อดทน พึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้น จะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ”
“คนไทยเราเคารพยกย่องครูมาก สงเคราะห์ครูเข้าในบุพการีรองจากบิดามารดาไม่ว่าผู้ใดมียศถาบรรดาศักดิ์มากเพียงใดก็ยำเกรงครู ไม่ลบหลู่ครู ไม่ลืมครู เพราะเราถือว่าครูเป็นผู้ปลูกฝังทั้งความรู้และความดีเป็นผู้ที่ปั้นเราให้เป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม”
“น้อมนำศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมืองผ่านระบบการศึกษาตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม ใน 4 ประการ กล่าวคือ สร้างนักเรียนดีให้กับบ้านเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์โดยตรง, สร้างครูดีให้กับห้องเรียน ให้กับโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีชื่อมีเสียงและมีเกียรติยศ, สร้างผู้บริหารดีให้กับประเทศ ตลอดจนสร้างโรงเรียนให้ดี สร้างสถานศึกษาที่ดี เป็นศักดิ์เป็นศรีให้ชุมชนและจังหวัด”
นางบุญหนา บุญเรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ ประธานกลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยได้รับการก่อตั้งและพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 ว่า “โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย” ตามด้วยชื่อจังหวัด จำนวน 9 แห่ง คือ 1) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กระบี่ 2) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย กาฬสินธุ์ 3) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา 4) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ชัยภูมิ 5) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม 6) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย เพชรบูรณ์ 7) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุพรรณบุรี 8) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย สุราษฎร์ธานี 9) โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย อุทัยธานี โดยเป็นโรงเรียนสหศึกษา ประเภทนักเรียนประจำและไปกลับ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
ต่อมาในปี 2557 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้รวมโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จังหวัดสกลนคร เข้าไว้ด้วยรวมเป็นแห่งที่ 10
ผลการดำเนินงานและโครงการที่สำคัญในปีการศึกษา 2559 ได้แก่ โครงการบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ, การเข้าร่วมแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง มารยาทไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง เดี่ยวระนาดเอก ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น, การจัดงานแสดงนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัยครูและนักเรียน, โครงการค่ายอาสาพัฒนาสาธารณประโยชน์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อำเภอนครไท จังหวัดพิษณุโลก, การร่วมแข่งขัน “กีฬากาญจนาเกมส์” เป็นต้น
อนึ่ง ก่อนพิธีเปิดการประชุม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้มีผลงานดีเด่น ปีการศึกษา 2559 จำนวน 74 รางวัล ดังนี้
– ผู้บริหารสถานศึกษา “เบญจวิถีกาญจนา” ระดับดีเด่น 10 รางวัล
– รองผู้บริหารสถานศึกษา “เบญจวิถีกาญจนา” ระดับดีเด่น 10 รางวัล
– ครู “เบญจวิถีกาญจนา” ระดับดีเด่น 37 รางวัล
– คณะทำงานและเลขานุการ กลุ่มโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ระดับดีเด่น 10 รางวัล
– รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้มีผลงานดีเด่นระดับชาติ 7 รางวัล

● พบปะสนทนา “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ มรภ.กาญจนบุรี
ต่อมาในเวลา 13.30 น. ณ อาคารเรียนรวมและอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พบปะสนทนาเรื่อง “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดย ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี รวมทั้งคณบดี คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวขอความร่วมมือผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาคณะครุศาสตร์ที่จะจบออกไปเป็นครู ให้ช่วยผลักดันโครงการโรงเรียนคุณธรรมเชื่อมโยงศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมมีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง มีความรักสมัครสมานสามัคคี เมื่อจบการศึกษาไปเป็นครูบาอาจารย์ ขอให้ถ่ายทอดความดีงามความมีคุณธรรมสู่ลูกศิษย์ โดยเน้นตัวชี้วัดหลัก 5 ด้าน ตามจุดเน้นโครงการโรงเรียนคุณธรรม ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มจากผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาที่จะไปเป็นครูในวันข้างหน้าก่อน เพื่อให้เด็กได้เห็นได้ดูเป็นแบบอย่าง รวมทั้งเอกลักษณ์ความเป็นไทยด้วย ที่จะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสุขภาพ สุขุมรอบคอบ เรียบร้อย มีความเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่เสมอ และพูดภาษาไทยอย่างถูกต้องไพเราะ
ในส่วนของศาสตร์พระราชา กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในสังกัดได้น้อมนำพระบรมราโชวาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ใส่เกล้าฯ และยึดมั่นปฏิบัติเป็นหลักในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้า คือการพัฒนาเด็กให้มีพื้นฐานสำคัญ 4 ประการ คือ มีทัศนคติที่ดีต่อชาติบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม, มีงานทำ มีอาชีพสุจริต, เป็นคนดีของชาติบ้านเมือง จึงขอให้มหาวิทยาลัยตระหนักในเรื่องนี้ และดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ขอหยิบยกโคลงสี่สุภาพ “กล้วยไม้” ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งมีความชื่นชอบเป็นพิเศษเนื่องจากมีความไพเราะและสื่อความหมายถึงการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ
“กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
พร้อมทั้งฝากให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เริ่มต้นนำร่องในการสร้างคุณธรรมให้กับตนเอง โดยใช้ Social Media อย่างมีสติ มีวิจารณญาณ ไม่หลงเชื่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ จากนั้นจึงจะไปสอนเด็กให้ “ไม่ยอมรับ” กับการใช้ Social Media ในทางที่ไม่ถูกต้องไม่ดีงามด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง การให้ร้ายผู้อื่น การโพสต์ต่อว่าบุพการีหรือพระสงฆ์ ซึ่งล้วนเป็นการทำลายจริยธรรมทางสังคมทั้งสิ้น
ในส่วนของมหาวิทยาลัย ขอให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้พระราชทานไว้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนชาวไทย นำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีภูมิคุ้มกัน สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เป็นคนดีที่ คิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมีความสามัคคีซึ่งกันและกัน ที่จะเป็นการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ให้มีความเจริญก้าวหน้า เข้มแข็ง และมั่นคงตลอดไป

นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
4/5/2560