รมช.ศธ.”ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” ฝากลูกหลาน รร.สมุทรสาครบูรณะ หมั่นอ่านหนังสือพิเศษ (Extra Reading) การย่อความที่เป็นเลิศ ขอให้มีความรู้ รัก สามัคคี และเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พร้อมฝากข้อคิดให้ช่วยกันในการใช้ภาษาทางการทูตที่มีความไพเราะ และได้แนะแนวคิดการดำรงตน พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา รวมทั้งการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดขึ้นต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน

จังหวัดสมุทรสาคร – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ พร้อมเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศาสตร์พระราชาจะดำรงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และโครงการการใช้ภาษาต่างประเทศ (Diplomatic Language, ภาษาทางการทูต)” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุม คุณสุชาติ-แพทย์หญิงทิพาพรรณ ใบสมุทร อาคาร 6 โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดีที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้ง ขอฝากให้คณาจารย์ช่วยกันพัฒนาลูกหลานนักเรียน ให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งในด้านต่าง ๆ เช่น
“Extra Reading” การอ่านหนังสือพิเศษในทุกวัน เป็นการฝึกเด็กนักเรียนในด้านการพูด การคิด การเขียน การย่อความด้านภาษาอังกฤษที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ฝึกทักษะการสื่อสารให้มีความคล่องแคล่ว ใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยอาจจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบ “Extra Reading” ทั้งจากการอ่านหนังสือในชั่วโมง หรือจัดกิจกรรม Homeroom ช่วงเช้าในชั้นเรียน เพื่อฝึกการพูด การฟัง การจดจำคำศัพท์ การย่อความอย่างต่อเนื่อง
“ศาสตร์ของพระราชา” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานสอนปวงชนชาวไทย เช่น ความเพียร ความซื่อตรง ความวิริยะอุสาหะ ความมุ่งมั่นในการดำรงชีวิตให้เป็นคนดี การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน หลักความรู้ รัก สามัคคี และเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์ทรงมีความห่วงใยเรื่องการศึกษาและลูกหลานเยาวชน
“การใช้ภาษาทางการทูต” มีวิธีการพูดที่จะแสดงถึงความสุภาพทางการทูต ได้แก่ 1) การฟังและความเข้าใจ 2) ใช้คำพูดที่ไพเราะ เหมาะสม อ่อนนุ่ม ไม่โผงผาง หลีกเลี่ยงการพูดถึงบุพการี 3) ต้องระมัดระวัง หลีกเลี่ยงภาษาในทางลบ 4) คำมหัศจรรย์ (Magic Word) คือ คำว่า “sorry” ที่ช่วยลดการโกรธเคือง 5) ไม่ควรชี้นิ้วใส่ผู้อื่นระหว่างที่สนทนา หรือระหว่างบนโต๊ะอาหาร ทางการทูตถือว่าไม่มีมารยาทและไม่สุภาพอย่างยิ่ง
“โรงเรียนคุณธรรม” กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นต่อสังคมไทย จึงได้มีนโยบายโรงเรียนคุณธรรม ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 5 ประการ คือ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 อันจะส่งผลให้การศึกษามีคุณภาพและพัฒนาขึ้นอย่างมีระบบแบบแผน

“แนวคิดการดำรงตน” เพื่อนำไปปรับใช้ตามกาลเทศะต่าง ๆ คือ Protocol: มีระเบียบวิธี, Etiquette: จริยธรรมและจารีตทางความคิดที่ดี, Manners: มารยาทจรรยา, Education: การศึกษา ซึ่งหากสามารถผสานทั้ง 4 ส่วน เข้ากับการทำงาน การดำรงชีวิต จะทำให้สถานศึกษามีคุณภาพ และมาตรฐานที่ดี อีกทั้งประเทศจะน่าอยู่ สงบร่มเย็นมากขึ้นอีกด้วย

ม.ล.ปนัดดา ยังได้กล่าวฝากถึงลูกหลานนักเรียนให้ระมัดระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในปัจจุบันนี้ อย่าใช้ไปในทางที่มีอคติต่อสังคม ไม่ควรเข้าไปร่วมกับการว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสี เขียนข้อมูลอันเป็นเท็จ และขอให้นักเรียนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ประหนึ่งรวงข้าวที่เต็มไปด้วยเมล็ดข้าวที่โค้งงอลงสู่พื้นดิน หรือเปรียบเสมือนการน้อมคำนับตามธรรมเนียมของประเทศญี่ปุ่นที่มีความสุภาพยิ่ง

ปกรณ์ เรืองยิ่ง: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง
PHOTO CREDIT: ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี สร.ศธ.
17/11/2560