บรรยายสมาคมห้องสมุดฯ และ ม.บูรพา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษในการประชุมสามัญประจำปี 2559 ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย จากนั้นเดินทางไปมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เพื่อพบปะสนทนาเกี่ยวกับการผลักดันสถาบันการศึกษาคุณธรรม ร่วมกับรองอธิการบดี 4 ฝ่าย คณบดี คณาจารย์ และนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา



• เวลา 11.30 น. ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 กับการพัฒนาห้องสมุด” ในโครงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 และประชุมวิชาการของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหารสมาคม คณะครู และบรรณารักษ์ เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในเรื่องของทิศทางแผนการศึกษาชาติ เป็นงานด้านการศึกษาที่ต้องมีการวางแผนงานล่วงหน้า เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถนำไปดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจหน้าที่อย่างมีเหตุและผล มีต้นเรื่อง ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาการศึกษาในแต่ละด้าน ซึ่งอาจจะประสบผลมากบ้างน้อยบ้างตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมโยงของแผนการศึกษาแต่ละกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่แผนงานของการศึกษาแต่ละระดับจะต้องมีความชัดเจน ต่อเนื่อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน


งานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่ได้ช่วยบ้านเมืองเป็นอย่างมากในเวลานี้ เพราะผู้ที่มาร่วมงานประชุมในครั้งนี้ กำลังทำหน้าที่ของครูผู้อบรมสั่งสอนให้เด็กมีความรู้ และเป็นบรรณารักษ์ดูแลงานห้องสมุดในสถานศึกษาหรือห้องสมุดประชาชนอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งความเป็นครู นับว่ามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ที่ไพศาล เป็นผู้เสียสละ และเป็นผู้ดำรงเกียรติยศ แม้จะมีคนเห็นบ้างไม่เห็นบ้างก็ตามที แต่ครูที่ต้องสวมหมวกสองใบ สอนด้วยและดูแลห้องสมุดด้วย ต้องมีความตั้งใจและทุ่มเทเวลา แรงกาย และแรงใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่าการเข้ามาเรียนรู้ในห้องสมุดหรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนไทยมากนัก


ดังนั้น จึงเป็นภาระของบรรณารักษ์ในการคิดค้นวิถีทาง เพื่อเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชน เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางหนังสือให้น่าหยิบน่าจับขึ้นมาอ่าน การนำเสนอหนังสือใหม่ หนังสือที่น่าสนใจ ท่วงท่าอันกระฉับกระเฉงของบรรณารักษ์ เป็นต้น และนอกจากครูแล้ว ส่วนตัวยังมองว่าข้าราชการต้องเป็นตัวอย่างต่อสังคมด้วย โดยเฉพาะเป็นตัวอย่างแก่เด็กและเยาวชนในเรื่องของการใฝ่ศึกษาหาความรู้จากการอ่าน รวมทั้งการดำรงชีวิตบนความถูกต้องและดีงาม เพื่อเด็กจะได้เห็นเป็นตัวอย่าง เห็นเป็น IDOL ที่จะเกิดเป็นความอบอุ่นใจ ดูอย่าง เอาเป็นแบบอย่างในที่สุด


ทั้งนี้ “หนังสือ” เปรียบเสมือนมรดกทางปัญญา ที่นอกจากจะทำให้ตัวเองได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ แล้ว ยังส่งต่อความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ส่งต่อความสัมพันธ์จากร่องรอยการอ่านของผู้อ่าน จากรอยไฮไลต์ที่เน้นข้อความ ขีดเส้นใต้บางประโยค และโน้ตย่อใจความต่าง ๆ ซึ่งหากเราอ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ จะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ส่วนตัวจึงชอบอ่านจากหนังสือมากกว่าอ่านออนไลน์ เพราะสะดวกและรวดเร็ว เข้าถึงง่ายหาง่าย เปิดอ่านได้แม้ไม่มีอินเทอร์เน็ต และสามารถขีดเขียน ลากสีก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนยังนิยมอ่านจากหนังสือ, Textbook, Pocket Book ควบคู่กับการค้นคว้าหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์



ในท้ายที่สุดนี้ ขอเป็นกำลังใจกับครูและบรรณารักษ์ทุกคน ณ ที่นี้ ให้ได้ตั้งใจหาความรู้และประสบการณ์จากการประชุม สัมมนา รับฟังความรู้ใหม่ ๆ จากวิทยากร เพื่อนำกลับไปพัฒนาห้องสมุดให้น่ามอง น่าหยิบจับหนังสือ และน่าเข้าไปนั่งอ่าน ที่จะเป็นส่วนช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความรู้ สติปัญญา อารมณ์ กับคนทุกช่วงวัยต่อไป



• เวลา 14.30 น. ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พบปะสนทนาเรื่อง “การสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพระยุคคลบาท ในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมีคุณธรรม” โดยมี รศ.วัชรินทร์ กาสลัก ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา รองอธิการบดีอีก 3 ท่าน คณาจารย์ และนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา เข้าร่วมรับฟัง


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ในนามข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่ง จะขอเป็นกำลังให้มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภาคตะวันออก และมีศักดิ์ศรีสง่างามมาอย่างยาวนาน ให้ได้มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาการศึกษาให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกและจังหวัดอื่น ๆ ที่มาศึกษาเล่าเรียน เพื่อออกไปเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาและนำพากลุ่มจังหวัดให้มีความเจริญก้าวหน้า และเสริมแรงกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศต่อไป ตลอดจนให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ไปให้ได้ เพราะเชื่อเหลือเกินว่าสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งล้วนเผชิญกับเรื่องเหล่านี้ไม่ต่างกัน และแม้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาหลาย ๆ แห่ง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และใช้เวลาเป็นอย่างมาก เพื่อให้เรื่องนี้หมดสิ้นไป


ความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของการสร้างเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลด้านการศึกษา คือโครงการโรงเรียนคุณธรรม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทุกแห่ง ตลอดจนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเมืองพัทยา ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2560 นี้ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียน วิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาก็ต้องมีคุณธรรมอยู่แล้ว แต่เหตุที่มีโครงการโรงเรียนคุณธรรมขึ้นอีก เพื่อที่จะบอกซ้ำย้ำเติมว่าการดำเนินงานเรื่องโรงเรียนคุณธรรมที่ผ่านมา ยังมีผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดมากนัก


วันนี้จึงต้องการจะมาสื่อสาร และขอความร่วมมือร่วมใจจากนิสิต ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้บริหาร ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิด “สถาบันการศึกษาคุณธรรม” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยงานด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม ดังนั้นหากเราจะได้ร่วมใจกันผลักดันให้สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาคุณธรรมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ก็จะถือเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพระยุคคลบาท



โดยขอให้นำกรอบแนวคิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาคุณธรรมไปสู่การปฏิบัติอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรม ยกตัวอย่างเช่น คณะวารสารศาสตร์ ซึ่งสร้างนักสื่อสารมวลชน นักข่าว ให้เกิดขึ้นในอนาคต ต้องคำนึงถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนพื้นฐานความจริง ไม่ควรนำภาพข่าวที่โหดร้ายทารุณออกมาเผยแพร่ ส่วนผู้บริหารทั้งหลายฝากให้ช่วยนำเรื่องอำนาจและความรับผิดชอบไปถ่ายทอดให้กับคณาจารย์ว่าสิ่งใดควรนำหน้าระหว่างความรับผิดชอบหรืออำนาจหน้าที่ พร้อมขอให้มหาวิทยาลัยดำรงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องของภาษาถิ่น ให้คงอยู่กับลูกหลานสืบไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ที่ควรหวงแหนไว้ยิ่งนัก



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
25/3/2560