บรรยาย STEM Education

บรรยาย Re-Thinking Education Re-Imagining ASEAN


โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง STEM Education ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ Re-thinking Education, Re-Imagining ASEAN จัดโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ เมื่อวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2559 โดยมี รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผช.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักวิชาการ, นักการศึกษา, นักศึกษา ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ STEM Education เป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ การกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา STEM Education ในสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถนำนโยบายไปดำเนินงานได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

STEM Education คือ การนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science), เทคโนโลยี (Technology), วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่การนำศาสตร์ทั้ง 4 ด้านมาประยุกต์ใช้ (Apply)

การจัดการเรียนการสอน STEM Education ให้ประสบความสำเร็จจะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ

  • Recruit the Best Teachers คือ การจ้างครูที่เก่งหรือครูที่ดีที่สุดมาทำการสอน ดังจะเห็นได้จากประเทศที่มีครูเก่งและประสบความสำเร็จด้านการศึกษา อาทิ ฟินแลนด์, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยคนที่จะเป็นครูได้ต้องจบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์และต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู และยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกหลายประการที่ทำให้ผู้ที่มีความรู้และความสามารถแต่ไม่ได้จบครูไม่สามารถประกอบอาชีพครูได้ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบครูมาเป็นครูได้ อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของไทย

  • Reform Curriculum Coherence คือ การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กล่าวคือ การเชื่อมโยงกันของการจัดทำหลักสูตร (Curriculum), ตำราเรียน (Textbooks), การเรียนการสอน (Teaching and Learning), การฝึกปฏิบัติของครูผู้สอน (Teachers Coaching) ตลอดจนการวัดผลและประเมินผล (Assessment) จะทำให้การจัดการศึกษาสัมฤทธิ์ผลได้ ซึ่งครูต้องมั่นใจว่าได้สอนเนื้อหาแต่ละวิชาอย่างถูกต้องและมีความเป็นสากล เพื่อทำให้นักเรียนมีความรู้ลึกรู้จริงและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งสถานศึกษาต้องให้ความสำคัญกับตำราเรียน เนื่องจากตำราเรียนแบบดิจิทัลกับตำราเรียนแบบเป็นเล่มมีความแตกต่างกัน อีกทั้งการศึกษาวิจัยพบว่าหนังสือแบบ e-book มียอดขายลดลง เพราะผู้ที่อ่านหนังสือแบบ e-book จะจดจำรายละเอียดและเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ได้น้อยกว่าผู้ที่อ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นการวัดผลและประเมินผลการศึกษาด้วยว่า จะเน้นการประเมินผลใน 2 รูปแบบ คือ การประเมินผลระหว่างเรียน (Formative Assessment) ซึ่งครูสามารถประเมินผลการจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์ที่เป็นจริง รวมทั้งการประเมินสรุปผล (Summative Assessment) คือ การประเมินเพื่อสรุปผลการจัดการเรียนการสอนว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รมช.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ใช่การสร้างคนเก่ง แต่เป็นการสร้างคนดีมีคุณธรรมให้บ้านเมือง (School Aims) หรือเป็นคนที่มีความรู้คู่ความดี


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
16/6/2559