บัณฑิตพันธุ์ใหม่
สกอ.เตรียมผลิต “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนประเทศ
ล็อตแรกเปิดรับเด็ก ปวส.2 ป.ตรี3-4 และคนทำงาน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือระดมความคิดเห็น เพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมบริหาร ชั้น 4 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง สกอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อระดมความคิดเห็นการดำเนินงานผลิต “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Cure) ให้ทันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2561 ในเดือนสิงหาคมนี้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
โดยที่ประชุมได้มีการหารือในหลายประเด็น สิ่งสำคัญคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะเริ่มดำเนินการ ซึ่งกลุ่มแรกควรจะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีสุดท้าย เพื่อมาเรียนต่อยอดในหลักสูตรนี้ จากนั้นสามารถเรียนต่ออีก 2 ปี ก็จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งหลักสูตรจะเป็นการบูรณาการศาสตร์วิชาการและการปฏิบัติที่ใช้ทักษะชั้นสูงในสาขาวิชาที่ต้องการเร่งด่วน ได้แก่ สาขาวิชาระบบรางและขนส่ง, สาขาวิชาช่างซ่อมอากาศยาน, สาขาวิชาแมคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์, สาขาวิชาเทคนิคพลังงาน, สาขาวิชาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว, สาขาวิชาโลจิสติกส์, สาขาวิชา Smart Farming และสาขาวิชา Digital หรือนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 และ 4 ก็สามารถเปลี่ยนมาเรียนต่อในหลักสูตรนี้ได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่เรียนจบแล้วและกลุ่มคนทำงาน ที่ต้องการเพิ่มทักษะชั้นสูง ก็จะจัดหลักสูตรอบรมในรูปแบบ NON-Degree โดยใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อไป เช่น ทักษะด้าน Digital Skills สำหรับผู้ประกอบการ, Fintech (มาจากคำว่า Financial กับ Technology) ที่เป็นการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน เป็นต้น
สำหรับการคัดเลือกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่นี้ จะเปิดกว้างสำหรับทุกมหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่ สกอ.กำหนด ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน, ความสามารถในการผลิตบัณฑิตตอบโจทย์หลักสูตรใหม่ และสอดคล้องกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นสมรรถนะวิชาชีพ, จัดสรรเวลาเรียน ให้ผู้เรียนเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 50% ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกให้จัดหลักสูตร โดยคาดว่าจะประกาศรับสมัครมหาวิทยาลัยที่สนใจและให้เสนอหลักสูตรเข้าสู่การพิจารณาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
จากนั้นจะเร่งพัฒนาหลักสูตรบูรณาการศาสตร์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ให้มีการเรียนข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชาได้ อาทิ เรียนคณะแพทยศาสตร์เป็นเวลา 2 ปี กับเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์อีก 2 ปี เพื่อให้ผู้ที่จบมาสามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ได้ตรงตามความต้องการของแพทย์ เป็นต้น
ศุภลักษณ์ แจ้งใจ: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
30/1/2561