บูรณาการด้านการศึกษา ภาคใต้

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้ตรวจราชการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษา ข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ ร่วมรับฟังการสรุปผลการระดมความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะการดำเนินงานบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน​ 2561 ณ มหาวิทยาลัย​ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อำเภอละงู จังหวัดสตูล

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุลที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ได้เดินทางไปรับฟังการสรุปผลการระดมความคิดเห็นในทุกภาคที่ผ่านมา พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำถึงการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512) รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง, การสร้างลักษณะพื้นฐานที่มั่นคง มีคุณธรรม, เรียนแล้วมีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี

ในส่วนของผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาในภาคใต้ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน​ 2561 ที่จังหวัด​สตูล​ เพื่อทบทวนแผนการบูรณาการด้านการศึกษาในภาคใต้ ซึ่งได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น ประกอบด้วย​

กลุ่มย่อยที่ 1 การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ของ​กระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการพิจารณาแผนบูรณาการตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ว่ามีแผนการที่จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์​ พร้อมทั้งวางแนวทางที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณ​ปี พ.ศ.2563

กลุ่ม​ย่อย​ที่ 2 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งในห้วงเวลา​ที่ผ่านมา​กระทรวงศึกษาธิการได้เดินหน้าโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศให้รองรับการเป็น Thailand 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมทั้ง First S-Curve และ New S-Curve จึงเกิดเป็นแนวคิดในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา อาทิ การส่งเสริมให้เด็กสนใจเข้าเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น ด้วยการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองโดยการเชื่อมโยงหลักสูตร​ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา​ไปสู่อาชีวศึกษา​และอุดมศึกษา​ พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เรียนจบแล้วมีทักษะความสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะช่วยผลิตกำลัง​คน​ด้านอาชีวศึกษา​สู่ตลาดแรงงาน​ได้มากขึ้น เป็น​ต้น

กลุ่มย่อยที่ 3 การระดมความคิดเห็นเพื่อต่อยอดขยายผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามการบริหารราชการทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ​ จังหวัดศรีสะเกษ, ภาคกลาง จังหวัดกาญจนบุรี, ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่, ภาคใต้ชายแดน จังหวัดปัตตานี และภาคใต้​ จังหวัดสตูล โดย​สถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเหล่านี้จะมีอิสระในการบริหารจัดการ ครูในพื้นที่สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น เกิดการสร้างนวัตกรรมภายใต้ความเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ โดยใช้กลไกประชารัฐเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงาน เป็นต้น

“มั่นใจได้ว่าแผนบูรณาการศึกษาด้านต่าง ๆ จากการประชุมทบทวนในครั้งนี้ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ​และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งสอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์เชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาให้ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจ​เชื่อมโยง​การค้า​และการลงทุน​กับภูมิภาค​อื่นของโลก” พล.อ.ทัศน์ กล่าว

นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสตูลครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จากที่เคยได้ประชุมไปแล้วที่จังหวัดระยอง จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดเชียงรายในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งในการทำงานครั้งนี้มุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญดังกล่าว คือ

1) การขับเคลื่อนแผนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจากนโยบายรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเห็นภาพการทำงานด้านการศึกษาที่เกิดจากความต้องการของพื้นที่และตอบสนองบริบทที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง

2) กระทรวงศึกษาธิการมีความตั้งใจพัฒนาหลักสูตรที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา เนื่องจากเดิมนั้นต่างฝ่ายต่างแยกกันดำเนินงาน ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนดำเนินงานอย่างเชื่อมโยงกัน ซึ่งผู้ที่ทำได้คือสถานศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ วันนี้จึงให้โจทย์ว่าหน่วยงานในพื้นที่ควรคิดค้นหาหลักสูตรที่สามารถทำได้ในเบื้องต้นก่อน ซึ่งหลายจังหวัดสามารถทำออกมาได้ดีและนำไปเป็นต้นแบบได้ รวมถึงเชื่อมั่นว่าจะมีหลายพื้นที่สามารถทำหลักสูตรที่เหมาะสมออกมาได้

3) รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานขณะนี้มีโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 30,000 แห่ง แต่ละพื้นที่ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทำงานในรูปแบบ Top Down เหมือนที่เคยทำมา จึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาจึงมอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 6 ภาค ซึ่งแต่ละภาคก็จะมีนวัตกรรมการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังว่าทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว จะส่งผลให้การศึกษาของประเทศมีการพัฒนาขึ้น สามารถตอบโจทย์ของประเทศ รวมถึงพัฒนาคนให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์โลกในปัจจุบัน

“วันนี้เราให้แต่ละพื้นที่ค้นหาความต้องการของตนเอง เช่น จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดกระบวนการดูแลพัฒนาเด็ก และกระบวนการวิจัย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ และหน่วยงานในพื้นที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ทำให้กระบวนงานที่เกิดขึ้นช่วยพัฒนาเด็กเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม คือ เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์เป็น มีเหตุมีผล เรียนรู้อย่างเข้าใจมากกว่าการจำ หรือเรียกว่า Active Learning มากกว่า Passive Learning” นายอำนาจ กล่าว

 

สรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็น
และข้อเสนอแนะการดำเนินงาน
ของการประชุมกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม

1) การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคใต้) ของ​กระทรวงศึกษาธิการ

นายประหยัด อนุศิลป์ รองศึกษาธิการ​ภาค 6 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการ ภาค 6 กล่าวว่า การขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาของภาคใต้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ 11 จังหวัด โดยยึดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา คือ “ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก เป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเมืองเศรษฐกิจ​เชื่อมโยง​การค้า​และการลงทุน​กับภูมิภาค​อื่นของโลก” โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนา​ 4 ด้าน คือ 1) พัฒนาการ​ท่องเที่ยว​ของภาคใต้​เป็นแหล่งท่องเที่ยว​คุณภาพ​ชั้นนำของโลก 2) พัฒนา​อุตสาหกรรม​การแปรรูป​ยางพารา​และปาล์ม​น้ำมันแห่งใหม่​ของประเทศ 3) พัฒนา​การผลิต​สินค้า​เกษตร​หลัก​ของภาค 4) การพัฒนา​โครงสร้างพื้นฐาน​สนับสนุน​การท่องเที่ยว​ การพัฒนา​เขตอุตสาหกรรม​ และการเชื่อมโยง​การค้า​โลก

2) การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

ที่ประชุมได้มีข้อค้นพบที่สำคัญ เช่น จำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจข้อมูลสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนในพื้นที่ และสำรวจความต้องการของผู้เรียนก่อน จากนั้นจึงจะมาร่วมกันวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกกำหนดหลักสูตร หากการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงฯ ของพื้นที่ภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาในระดับอาชีวศึกษามากขึ้น และผู้เรียนจะสามารถค้นพบศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการลดอัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษาในพื้นที่อีกด้วย

3) การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อต่อยอดขยายผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ นักการศึกษาสำคัญของประเทศ มาเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้วย โดยที่ผ่านมาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานจากโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 10 โรงเรียน และมีการกำหนดหลักการร่วมกันคือ “ให้โรงเรียนเป็นฐานในการบริหารจัดการตนเอง โดยผ่านกลไกคณะกรรมการสถานศึกษา” ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีคุณลักษณะเป็น Change Agent ที่สำคัญคือครูต้องเน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบโครงงาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ และสามารถเป็น Active Citizen พัฒนาพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยน Mind Set ของคนในพื้นที่ ให้มีความตระหนักถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นอันดับแรกก่อน เพื่อให้สามารถขยายผลไปสู่ทุกโรงเรียนได้เต็มพื้นที่จังหวัดสตูลต่อไป

 

Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, ปารัชญ์ ไชยเวช
Photo Credit
ยุทธพงศ์​ เลือก​กลั่น​ดี, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร