บูรณาการศึกษาภาคตะวันออก-EEC

จังหวัดชลบุรี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออก และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 23 สิงหาคม 2561 ณ โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” อำเภอเมืองชลบุรี มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

– แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)

ที่ประชุมแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และแผนอื่น ๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่ ให้ความเห็นชอบในเบื้องต้น ตลอดจนติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน

ซึ่ง กบอ.ได้ดำเนินการประชุมไปแล้ว และมีผลการประชุมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี 6 แนวทางในการพัฒนา ได้แก่

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง

3. การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน

4. การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี เพื่อผลิตบุคลากรและงานวิจัยให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม

5. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่และศูนย์กลางการเงิน

6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะนำเสนอ กพอ. เพื่อพิจารณาต่อไป


– แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออก)

ที่ประชุมรับทราบคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 1025/2561 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค (ภาคตะวันออก) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี 2 ชุด โดยศึกษาธิการภาค 3 และศึกษาธิการภาค 9 เป็นประธานแต่ละชุด

โดยมีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนบูรณาการการศึกษาระดับภาค ร่วมจัดทำและขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคตะวันออกของ ศธ. รวมถึงกำกับติดตามการขับเคลื่อนแผนฯ ในระดับจังหวัดและในระดับภาค และสรุปผลการดำเนินงานเสนอหน่วยงานระดับภาคตะวันออก


– การดำเนินการโครงการส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในส่วนของภาคตะวันออก

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้รับงบประมาณเพื่อจัดทำรูปแบบและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จำนวน 124,082,800 บาท

นายธวัชชัย อุ่ยพานิช รองศึกษาธิการภาค 9 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 9 รายงานต่อที่ประชุมว่าสำนักงานศึกษาธิการภาค 3 และภาค 9 ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ผู้เรียนมีทางเลือกที่หลากหลาย โดยเฉพาะสายอาชีพทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จึงจัดโครงการส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและแนวทางการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา

โดยมีเป้าหมายคือจัดหลักสูตรต่อเนื่องในพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 3 รวม 19 หลักสูตร และพื้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 รวม 16 หลักสูตร ตลอดจนสามารถส่งเสริมนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีทักษะชีวิต เกิดเจตคติที่ดีต่อการศึกษาสายอาชีพ ขณะที่นักเรียนระดับอาชีวศึกษาสามารถเข้าสู่เส้นทางอุดมศึกษา และมีการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม Thailand 4.0 อาทิ หลักสูตร ปวส.ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐาน KOSEN โดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี), หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Smart System Engineering) วิศวกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart Urban Engineering) โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ เป็นต้น


ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม 2561

การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม ที่ผ่านมา จัดขึ้นเพื่อทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาและนำมาสู่การปรับปรุงพัฒนา พร้อมทั้งการสร้างการรับรู้และทิศทางและกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคที่มีต้นแบบเหมาะสม โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ได้แก่

1. สร้างการรับรู้กรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคที่สามารถเป็นต้นแบบในการจัดทำขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาภาคของ ศธ.

2. แบ่งกลุ่ม 6 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็นทบทวนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของ ศธ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และแนวทางการดำเนินการจัดทำแผนปีงบประมาณต่อไป

โดยผลการประชุมในภาพรวม 6 กลุ่ม สามารถแบ่งได้ 3 ประเด็น คือ

1) ประเด็นที่ได้จากการทบทวนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

2) ประเด็นที่นำไปสู่การปฏิบัติและแนวคิด (Project Idea) ปีงบประมาณต่อไป ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาค 6 ภาค ซึ่งมีการเน้นย้ำให้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (อ.ก.บ.ภ) ของแต่ละภาค รวมถึงการขับเคลื่อนแผนบูรณาการภาค เน้นการใช้กลไกจังหวัดเป็นฐานโครงการ ระดับพื้นที่ต้องผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และเสนอเป็นแผนระดับต่างๆ เช่นแผนพัฒนาจังหวัด แผนกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาภาค (แผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค) ต่อไป

3) แนวทางการดำเนินการของภาค 6 ภาค ทั้งในส่วนของการดำเนินการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และการเตรียมการดำเนินการของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ ผลการประชุมดังกล่าวสรุปได้ว่า ทุกส่วนราชการที่ทำหน้าที่ภาคเจ้าภาพ 6 ภาคต้องเสนอกรอบแนวคิดโครงการ (Project Idea) จัดส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 และทุกส่วนราชการที่ทำหน้าที่ภาคเจ้าภาพ 6 ภาค รวมทั้งหน่วยงานระดับภาคย่อยและระดับจังหวัด จัดประชุมสร้างการรับรู้และจัดทำแผนงานโครงการกิจกรรมและงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 รองรับกรอบแนวคิดโครงการ (Project Idea) เพื่อจัดทำเป็นคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมทุกหน่วยงานต้องพิจารณาเสนอข้อคิดเห็นใน (ร่าง) แนวปฏิบัติจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค แผนปฏิบัติการประจำปี และ (ร่าง) แบบรายงานผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการ และแจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการทราบผลการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2561

นายธวัชชัย อุ่ยพานิช รองศึกษาธิการภาค 9 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 9 รายงานผลการดำเนินงานของภาคตะวันออกว่า สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มของภาคตะวันออก โดยได้ร่วมกับจังหวัดในภาค สร้างการรับรู้ทิศทางและกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาค และการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาภาคของกระทรวงศึกษาธิการจากหน่วยงานหลัก ร่วมกันทบทวนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคตะวันออกของกระทรวงศึกษาธิการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จัดทำแนวปฏิบัติการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาภาคและแผนปฏิบัติการจังหวัด ตลอดจนร่วมจัดทำแบบรายงานดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนแผนบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของกระทรวงศึกษาธิการและโครงการที่เกี่ยวข้อง


ผลการดำเนินการโครงการที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบกลาง) ภายใต้แผนปฏิบัติการ การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ภายใต้แผนปฏิบัติการ การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีจำนวน 14 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 390,482,900 บาท เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 โดยมีโครงการของหน่วยงานหรือสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

1. โครงการโรงเรียนเอกชนต้นแบบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)

2. โครงการพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้านภาษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประกอบอาชีพ 10 อุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

3. โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อพัฒนาและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (วิทยาลัยสัตหีบ) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

4. โครงการพัฒนาทักษะที่พึงประสงค์ในการทำงานรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

5. มหาวิทยาลัยบูรพา มีจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการเงิน การลงทุน เศรษฐกิจ สำหรับธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อพัฒนาบุคลากรในภาคตะวันออก รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, โครงการบูรณาการจัดเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการเขตจังหวัดชลบุรี สำหรับสร้างแรงจูงใจในการเรียนอาชีวศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, โครงการเพิ่มพูนความสามารถทางภาษาอังกฤษด้วยกระบวนการ SMART STEM ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา เพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาหลักสูตรรองรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการชั้นนำของโลกและของประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งรัดการจัดทำขอบเขตของ TOR และแผนการปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมายและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และเร่งรัดการจัดทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2561 หากมีรายการผูกพันข้ามปีขอให้หน่วยงานจัดทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลางเรื่องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีตามระเบียบด้วย โดยการดำเนินการทุกโครงการขอให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561


– รายงานงบประมาณโครงการที่ได้รับจัดสรรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

ที่ประชุมรายงานว่า มีหน่วยงานหรือสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โครงการตามแผนงานบูรณาการจำนวน 2 แผนงาน คือ

1) แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค (ภาคตะวันออก) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก สถาบันวิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย โครงการผลิตและพัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และโครงการการพัฒนาด้านการศึกษาและบุคลากรรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงใน EEC โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
 


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำเพิ่มเติม :

  • การติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่มีผลกระทบต่อการวางแผน เช่น การมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม

  • สร้างการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งให้มากที่สุด

  • ใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า มีความประหยัด โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

  • มอบหมายให้หน่วยงานองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ จัดทีมงานมากำกับดูแลในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวขอบคุณข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์อย่างยิ่งจากภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะนำไปพิจารณาให้เกิดการพัฒนาแนวคิดในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไป


Written by ปารัชญ์ ไชยเวช
Photo Credit ประชาสัมพันธ์โรงเรียนชลบุรี “สุขบท”, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร