บูรณาการศึกษาภาคตะวันออกและ EEC

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออก และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันพุธที่ 10 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เปิดเผยผลการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป 1216/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเห็นชอบให้มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและเห็นควรให้แต่งตั้งคำสั่งใหม่เป็น คณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออก และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของกระทรวงศึกษาธิการ” ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC โดยกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดใหม่เป็น 2 ส่วน คือ

1) คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนฯ โดย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน, รมช.ศึกษาธิการ ทั้ง 2 ท่านเป็นรองประธาน, ปลัด ศธ.เป็นกรรมการและเลขานุการ

2) คณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนฯ  โดย รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธาน, ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล) และปลัด ศธ. เป็นรองประธาน, ผู้ตรวจราชการ (นายอำนาจ วิชยานุวัติ) เป็นกรรมการและเลขานุการ

หลังจากนี้ จะได้เสนอองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ชุดใหม่ ให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาลงนามแต่งตั้งต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ของทุกองค์กรหลักให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งระดับภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่จะต้องมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันในการจัดการศึกษาในพื้นที่ 7 ข้อ คือ

1) การพัฒนาหลักสูตรระดับอาชีวศึกษา ที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของประเทศ

2) การจับคู่เปิดสอนหลักสูตรร่วมระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาไทยกับสถาบันอาชีวศึกษาต่างประเทศ อาทิ หลักสูตรรถไฟระบบรางไทย-จีน, หลักสูตรช่างกลอากาศยานไทย-ออสเตรีย, หลักสูตรด้านแมคคาทรอนิคไทย-จีน เป็นต้น

3) การเชื่อมต่อจากระดับอาชีวศึกษาสู่สถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาศึกษา โดยการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่ง สอศ. และ สกอ. จะหารือร่วมกันในรายละเอียดต่อไป

4) พัฒนาหลักสูตรต่อยอดจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่เน้นเทคนิคเชี่ยวชาญสูงขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดระดับรายได้ของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับอาชีวศึกษา

5) หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี สำหรับสองปริญญา

6) หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี ควบ 2 สาขาวิชา สำหรับ 1 ปริญญา (เอกและโท)

7) การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา เพื่อบูรณาการกับการทำงานให้เข้มข้นมากขึ้น

ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ไปประชุมหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ใน 7 ประเด็นดังกล่าว เพื่อให้นำเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาในครั้งต่อไป (5 กุมภาพันธ์ 2561) รวมทั้งมอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักจัดเตรียมโครงการและงบประมาณที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก เพื่อนำไปพิจารณาเสนอขออนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งคาดว่าจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ต่อไป


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน, ธเนศ งานสถิร: ถ่ายภาพ
10 มกราคม 2561