ปรระชุม คกก.บห.ลูกเสือแห่งชาติ
วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2560) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2560 ณ ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
-
คณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน ได้พิจารณาปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเรื่องเงินเดือน ดูแลบำรุงขวัญและกำลังใจ สวัสดิการ ของเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสม โดยยึดหลักตาม พ.ร.บ.หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
-
คณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน ให้ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พิจารณาปรับปรุงค่ายลูกเสือให้เหมาะสม ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
-
คณะอนุกรรมการฝ่ายสื่อสร้างสรรค์ ได้มอบหมายให้มุ่งเน้นพัฒนางานประชาสัมพันธ์ทาง Social Media ให้เยาวชนได้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เป็นวงกว้าง และมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น
-
คณะอนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการร่วมมือกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ในการติดต่อประสานงานด้านต่างประเทศ จึงกำชับให้ดูแลเรื่องการจ่ายค่าบำรุงลูกเสือโลก รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทย
ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานลูกเสือจิตอาสา ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2560 โดยคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติได้จัดโครงการ “จิตอาสา ลูกเสือทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อเป็นต้นแบบจิตอาสาตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยจัดคณะลูกเสือจำนวน 250 คน จากสโมสรลูกเสือและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกเสือ-เนตรนารีจิตอาสา ให้การรับรองแนะนำ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในช่วงเวลาดังกล่าว โดยทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ให้บริการสอบถามเส้นทางการประสานงานกับหน่วยต่าง ๆ ตลอดจนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากสถาบันการศึกษาจำนวน 9 สถาบันฯ ส่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือและลูกเสือเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 172 คน และคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องจำนวน 80 คน ผู้ร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการทั้งสิ้น จำนวน 250 คน ผู้บังคับบัญชาและลูกเสือ-เนตรนารีเป็น 5 ส่วนปฏิบัติการ ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการพระลานพระราชวังดุสิต ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงศึกษาธิการศูนย์ปฏิบัติการหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศูนย์ปฏิบัติการบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และศูนย์ปฏิบัติการอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สรุปผลการประเมินกิจกรรมได้ ดังนี้
1. ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งลูกเสือ-เนตรนารีและผู้บังคับบัญชาที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง มีจิตอาสามีความสามารถและทักษะที่ดีเยี่ยมในการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีความกระตือรือร้นในการทำงานทุกชนิด
2. ทีมงานและผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามารถปรับสภาพและยอมรับในการทำงานจิตอาสาได้ทุกรูปแบบ ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง
3. คณะผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมนักศึกษามีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ในการปรับพื้นที่ทำกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละวันของพระราชพิธีฯ
4. ปรากฏการณ์ลูกเสือ 4.0 เห็นได้จากคณะลูกเสือเนตรนารี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือและ Social Media ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่สุดทั้งในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การแก้ปัญหา ตลอดจนการบริการให้ข้อมูลต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำให้การทำงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมาก
ขณะที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดกำลังลูกเสือเข้าร่วมอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ สถานที่จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์อำเภอละ 1 แห่งในส่วนภูมิภาค โดยมีลูกเสือเนตร-นารีที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศทั้งสิ้น 182,226 คน ทั้งนี้การร่วมบริการประชาชนในพระราชพิธีฯ เป็นการปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ 3 ข้ออย่างครบถ้วน ทั้งการจงรักภักดีต่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ การช่วยเหลือบริการผู้อื่น และการปฏิบัติตนตามกฎลูกเสือ โดยยึดถือระเบียบวินัย อย่างเคร่งครัด
ที่ประชุมได้รับทราบการส่งผู้เข้าร่วมประชุมสภาการศึกษาลูกเสือภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ณ ประเทศบังคลาเทศ ระหว่างวันที่ 9-12 ธันวาคม 2561 เพื่อให้ผู้แทนลูกเสือจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม ได้รับความรู้เกี่ยวกับวิชาการในด้านการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเกิดประโยชน์ต่อลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ
นอกจากนี้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จะเสนอของบประมาณในปี 2562 เพื่อสนับสนุนลูกเสือ-เนตรนารีประมาณ 30 คน เข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ณ West Virginia สหรัฐอเมริกา ซึ่งทางประเทศเจ้าภาพได้กำหนดให้มีการเตรียมการส่งคณะผู้แทนลูกเสือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก โดยกำหนดให้แต่ละประเทศส่งรายชื่อผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศนั้น ๆ ไปยังเจ้าภาพจัดงานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพื่อจะได้ประสานงานโดยตรงกับเจ้าภาพ ทั้งนี้หลังจากได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิญชวนลูกเสือ-เนตรนารีที่สนใจเข้าร่วมงานชุมนุมต่อไป
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ นายปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ, นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และนายบดินทร์ คล้ายมณี อนุกรรมการลูกเสือฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสมาคมลูกเสืออาเซียนเพื่อความร่วมมือในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2560 และยังได้เห็นชอบอนุมัติรายชื่อลูกเสือ-เนตรนารี และผู้กำกับลูกเสือ รวมจำนวน 20 คน เข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสืออาเซียน ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2560 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้ดำเนินการประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกผู้แทนลูกเสือเนตรนารีเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบสำนักงานลูกเสือแห่งชาติประชาสัมพันธ์การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับรางวัลลูกเสือภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2017-2018 จำนวน 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ APR Award for Distinguished Service, APR Medal for Meritorious Contribution to Scouting, APR Chairman’s Award และ APR Certificate of Good Service ให้กับบุคลากรทางการลูกเสือและอาสาสมัครลูกเสือได้รับทราบ
ปารัชญ์ ไชยเวช: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า: ถ่ายภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
16/11/2560