เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาและคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ (ประเทศไทย)
———————–
เพื่อให้การสรรหาและคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ (ประเทศไทย) ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด” หมายถึง คณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในระดับจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
“คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง” หมายถึง คณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในส่วนกลาง ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
“การศึกษาขั้นพื้นฐาน” หมายถึง การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
“ผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน” หมายถึง ผู้เรียนที่มีอายุระหว่าง ๓ – ๑๘ ปี
“จังหวัด” หมายถึง จังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๒ ครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะ ดังนี้
๒.๑ คุณสมบัติทั่วไป
(๑) มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(๒) ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑) เป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
๒) เป็นหรือเคยเป็นครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(๓) มีประสบการณ์ปฏิบัติงานสอนอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี นับถึงวันที่ออกประกาศนี้
(๔) ปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาอยู่จนถึงวันรับพระราชทานรางวัล
(๕) ไม่เป็นผู้ประกอบอาชีพครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก
๒.๒ คุณสมบัติเฉพาะ
(๑) เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์
ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต มีความอุตสาหะในการทำภารกิจความเป็นครูมาโดยตลอดด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู จนมีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายแวดวงอาชีพกล่าวยกย่องถึงคุณงามความดี
(๒) เป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา
เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงานที่ทุ่มเทกับการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ การค้นคว้าพัฒนาการสอนหรือการเรียนรู้ จนมีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่รับผิดชอบ
ข้อ ๓ การพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะ มีแนวทางพิจารณา ดังนี้
๓.๑ เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์
แนวทางพิจารณา
พิจารณาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในประเด็นต่อไปนี้
-
ลักษณะการสอนและการจัดการเรียนรู้ของครูสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของลูกศิษย์ให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยทำเช่นนั้นจนเป็นวัตรปฏิบัติสม่ำเสมอกับลูกศิษย์ทุกคนตลอดชีวิตความเป็นครู
-
ผลการสอนและการจัดการเรียนรู้นำไปสู่การมีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน ด้านอาชีพ หรือด้านการดำเนินชีวิต
-
มีจิตวิญญาณความเป็นครู รักและศรัทธาในวิชาชีพครู มีความรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ลูกศิษย์โดยเสมอหน้า อบรม ฝึกฝน เสริมความรู้ ทักษะ และนิสัยที่ดีงามแก่ลูกศิษย์อย่างเต็มความสามารถ เน้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ทุกด้าน
-
การยกย่องมาจากหลายคนและหลายทางทั้งจากลูกศิษย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บังคับบัญชาในอดีตและปัจจุบัน เพื่อนครู ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน เป็นต้น
๓.๒ เป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา
แนวทางพิจารณา
พิจารณาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในประเด็นต่อไปนี้
-
มีพฤติกรรมที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจ เป็นแบบอย่างแก่เพื่อนครู
-
เป็นแบบอย่างของการทุ่มเทการสอนหรือจัดการเรียนรู้ ค้นคว้าพัฒนาการสอนหรือการเรียนรู้ มีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่รับผิดชอบ
-
มีผลที่เกิดจากการทำงานที่สามารถเป็นแบบอย่างแก่เพื่อนครูและนำไปปฏิบัติได้จริง
-
มีองค์ความรู้ นวัตกรรม หรือผลงานที่มีคุณภาพ สามารถนำไปเผยแพร่ในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ
การสรรหา
ข้อ ๔ ให้องค์กรและบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
๔.๑ องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตามที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้ เป็นผู้สรรหาครู ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๒ และเป็นผู้เคยได้รับรางวัลจากองค์กรนั้น ให้เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง
๔.๒ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็น
ผู้สรรหาและเสนอชื่อครูในสังกัดหรือครูที่ปฏิบัติงานร่วมกับสถานศึกษาของตนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๒
ในการเสนอชื่อ ให้สถานศึกษาเสนอได้ ๑ คน โดยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ณ จังหวัดที่ครูผู้รับการเสนอชื่อปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน
๔.๓ สมาคม มูลนิธิ และองค์กรซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้เป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อครูในสังกัดหรือครูที่ปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรของตน ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๒
ในการเสนอชื่อ ให้เสนอได้องค์กรละ ๑ คน โดยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ณ จังหวัดที่ครูผู้รับการเสนอชื่อปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน
สิทธิการเสนอชื่อครูเข้ารับการคัดเลือกในข้อนี้ ไม่รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมและมูลนิธิ ที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนครูหรือกิจการของสถานศึกษาใดเป็นการเฉพาะ
๔.๔ ลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่า อายุไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี เสนอชื่อครูซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๒ และเป็น
ผู้ที่เคยสอนตนมาก่อน
ในการเสนอชื่อ ลูกศิษย์ ๑ คนมีสิทธิเสนอชื่อครูได้เพียง ๑ คน โดยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ณ จังหวัดที่ครูผู้รับการเสนอชื่อปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน
การสรรหาตามข้อ ๔.๑ ข้อ ๔.๒ และข้อ ๔.๓ สำหรับในกรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติดังนี้
ครูในสังกัดกรุงเทพมหานครหรือครูที่เคยสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้เสนอชื่อไปยังคณะกรรมการคัดเลือกในส่วนของกรุงเทพมหานครที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ครูนอกสถานศึกษา และครูอื่นๆ ให้เสนอชื่อไปยังคณะกรรมการคัดเลือกในส่วนของกรุงเทพมหานครที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๕ ครูผู้ได้รับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อได้อีก ๑ ครั้ง หลังจากได้รับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ มาแล้วเป็นระยะเวลา ๕ ปี
ข้อ ๖ การเสนอชื่อครูเข้ารับการคัดเลือกให้ใช้แบบเสนอชื่อท้ายประกาศนี้
ข้อ ๗ การเสนอชื่อเกินจำนวนที่กำหนด ให้ถือว่าการเสนอชื่อทั้งหมดเป็นโมฆะ
การคัดเลือก
ข้อ ๘ การคัดเลือกมี ๓ ขั้นตอน ดังนี้
๘.๑ ขั้นตอนที่ ๑ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๘.๑.๑ การคัดเลือกระดับจังหวัด
(๑) คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด พิจารณาและคัดเลือกครูที่ได้รับการเสนอชื่อตามข้อ ๔.๒ ข้อ ๔.๓ และ ข้อ ๔.๔ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏในแบบเสนอชื่อและเอกสารหลักฐานที่จัดส่งมาพร้อมกับแบบเสนอชื่อ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดรวบรวมได้ด้วยวิธีต่างๆ
ในการคัดเลือก ให้คัดเลือกไว้ไม่เกินจำนวน ที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้
เมื่อคัดเลือกเสร็จแล้วให้คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ประกาศรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทราบเป็นการทั่วไป
(๒) เมื่อประกาศรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกขั้นตอนที่ ๑ แล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดจัดให้มีการรับฟังข้อทักท้วงผลการคัดเลือก
(๓) ผู้ใดเห็นว่าครูผู้ได้รับการคัดเลือกรายใดขาดคุณสมบัติตามข้อ ๒ สามารถทักท้วงเป็นหนังสือไปยังคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ภายใน ๑๐ วันทำการนับแต่วันประกาศรายชื่อ
หนังสือทักท้วงต้องระบุชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้ทักท้วง และลงลายมือชื่อของผู้ทักท้วงพร้อมกับแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นชัดว่าประสงค์จะทักท้วงครูผู้ได้รับการคัดเลือกขั้นตอนที่ ๑ รายใด ด้วยเหตุผลใด หากมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับข้อทักท้วงให้ส่งไปประกอบการพิจารณาด้วย
หนังสือร้องเรียนที่มีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ หนังสือทักท้วงที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อ หนังสือทักท้วงที่แอบอ้างใช้ชื่อผู้อื่น หรือหนังสือทักท้วงที่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงให้เห็นชัดเจนว่าประสงค์จะทักท้วงครูผู้ได้รับการคัดเลือกรายใด ด้วยเหตุผลใด คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดไม่ควรรับไว้พิจารณา
คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยข้อทักท้วงและการวินิจฉัยของคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดถือเป็นที่สุด
(๔) เมื่อดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๓) แล้ว ให้ส่งรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือก ขั้นตอนที่ ๑ พร้อมด้วยประวัติและผลงาน เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา และบันทึกสรุปความโดดเด่นของครูผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละบุคคลตามแบบที่กำหนด ไปให้คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง
รายชื่อที่จัดส่งคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางให้เรียงลำดับตามผลการคัดเลือก
๘.๑.๒ การคัดเลือกโดยองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนตามข้อ ๔.๑
(๑) ให้แต่ละองค์กรพิจารณาและคัดเลือกครูที่ได้รับรางวัลตามรายชื่อองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้ ในการคัดเลือกให้คัดเลือกองค์กรละ ๑ คน
(๒) เมื่อคัดเลือกเสร็จแล้วให้แต่ละองค์กรประกาศรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทราบเป็นการทั่วไปแล้วจัดให้มีการรับฟังข้อทักท้วงผลการคัดเลือก
ผู้ใดเห็นว่าครูผู้ได้รับการคัดเลือกรายใดขาดคุณสมบัติตามข้อ ๒ สามารถทักท้วงเป็นหนังสือไปยังคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ภายใน ๑๐ วันทำการนับแต่วันประกาศรายชื่อ
วิธีการทักท้วงและการพิจารณาวินิจฉัยข้อทักท้วงให้นำข้อ ๙.๑.๑ (๓) มาใช้โดยอนุโลม
(๓) เมื่อดำเนินการตาม (๑) และ (๒) แล้ว ให้ส่งรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกพร้อมด้วยประวัติและผลงาน เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา และบันทึกสรุปความโดดเด่นของครูผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละบุคคลตามแบบ ที่กำหนดไว้ท้ายประกาศนี้ ไปให้คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง
๘.๒ ขั้นตอนที่ ๒ : การคัดเลือกในส่วนกลาง
(๑) คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง เป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และองค์กรตามข้อ ๔.๑ เสนอมา แล้วคัดเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน ๒๐ คน ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ในการพิจารณา ให้พิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ได้รับจากคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และองค์กรตามข้อ ๔.๑ และอาจใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมด้วยก็ได้ เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการสอน หรือร่วมทำกิจกรรม เป็นต้น
(๒) เมื่อดำเนินการตาม (๑) แล้วให้ส่งรายชื่อครูที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกลำดับที่ ๑ – ๓ พร้อมด้วยประวัติและผลงาน เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาและบันทึกสรุปความโดดเด่นของครูผู้ได้รับการคัดเลือกแต่ละบุคคลไปให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
รายชื่อที่จัดส่งคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้เรียงลำดับตาม ผลการคัดเลือก
๘.๓ ขั้นตอนที่ ๓ : การพิจารณาตัดสิน
(๑) คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พิจารณาตัดสินครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน ๑ คน จากรายชื่อที่เสนอโดยคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง โดยพิจารณาจากเอกสาร หลักฐานที่ได้รับจากคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง และอาจใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมด้วยก็ได้ แล้วประกาศผลการตัดสินให้ทราบเป็นการทั่วไป
(๒) การพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ถือเป็นที่สุด
รางวัล
ข้อ ๙ ครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด องค์กรตามข้อ ๙.๑.๒ คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง และคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับรางวัล ดังนี้
๙.๑ ครูผู้มีคะแนนสูงสุดจากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” รางวัลที่ได้รับประกอบด้วย
๑) เหรียญทองรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
๒) เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน
๓) โล่ประกาศเกียรติคุณ
๔) เงินรางวัลจำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ
๙.๒ ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๒ และลำดับที่ ๓ จากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะได้รับ“รางวัลคุณากร” รางวัลที่ได้รับประกอบด้วย
๑) เหรียญเงินมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
๒) เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน
๓) เกียรติบัตร
๙.๓ ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ ๔ ถึงลำดับที่ ๒๐ จากการตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางจะได้รับ “รางวัลครูยิ่งคุณ” รางวัลประกอบด้วย
๑) เหรียญทองแดงมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
๒) เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน
๓) เกียรติบัตร
๙.๔ ครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด องค์กรตามข้อ ๘.๑.๒ คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับ “รางวัลครูขวัญศิษย์” รางวัลประกอบด้วย
๑) เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทาน
๒) เกียรติบัตร
ข้อ ๑๐ กำหนดเวลาในการสรรหาและคัดเลือกให้เป็นไปตามปฏิทินดำเนินงานท้ายประกาศนี้
ข้อ ๑๑ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง อาจกำหนดแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์และวิธีการในประกาศนี้
ข้อ ๑๒ คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางอาจตั้งอนุกรรมการและหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
ข้อ ๑๓ ผู้ที่ได้รับรางวัลตามประกาศนี้ หากในภายหลังปรากฎในกรณีดังต่อไปนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยคณะกรรมการ มีสิทธิถอดถอนรางวัลนั้นได้
ผู้ได้รับรางวัล ได้รับการเสนอชื่อไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการในประกาศนี้
ผู้ได้รับรางวัลขาดคุณสมบัติตามประกาศนี้อยู่ก่อนวันที่ได้รับรางวัล
ผู้ได้รับรางวัลมีพฤติกรรมเสื่อมเสียหลังจากได้รับรางวัลแล้ว
ข้อ ๑๔ ในกรณีมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีถือเป็นที่สุด
ข้อ ๑๕ การดำเนินการอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๑
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สช. และ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี