ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ครั้งที่ 2/2561
เมื่อวันอังคารที่ 25 กันยายน 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพว่า ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ 4 คณะ ประกอบด้วย
คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการออกและต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ
คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ
คณะที่ 4 คณะอนุกรรมการพัฒนาแนวทางการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2/2561 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ได้มีมาตั้งแต่ปี 2558 และมีเรื่องค้างพิจารณาของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชุดก่อน และได้นำมาพิจารณาในคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชุดนี้ ในการประชุมครั้งนี้ เรื่องหลัก ๆ คือ การตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมากลั่นกรองและกำหนดแนวทางที่จะดำเนินการเรื่องที่ประเด็นทางสังคมให้ความสนใจ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาแล้ว เห็นควรนำเข้าที่ประชุมก็สามารถเป็นผู้กล่าวหาเองได้ ซึ่งผู้กล่าวหาจะเป็นบุคคลใดก็ได้ ที่มองเห็นว่ามีการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพครู รวมทั้งคุรุสภา คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และสื่อมวลชนก็สามารถกล่าวหาได้ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาสืบข้อเท็จจริง เมื่อสืบข้อเท็จจริงเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งเรื่องมายังคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ยกตัวอย่างเช่น คดีของครูปรีชา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชุดนี้ ในขณะนี้ยังไม่มีต้นเรื่องเข้ามาให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณา และจะต้องแยกให้ชัดเจนว่าระหว่างผิดวินัยข้าราชการ กับผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ถ้าครูที่ทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพถึอว่ามีความผิดร้ายแรงกว่า ซึ่งจรรยาบรรณของวิชาชีพจะกำกับพฤติกรรม วิธีการทำงานของครูหรือผู้บริหารสถานศึกษา แต่ถ้าเป็นความผิดทางวินัยต้องมาดูว่าผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพข้อใด ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ได้มีการแต่งตั้งสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณา และเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพจริง และมีหลักฐานชัดเจน คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพก็สามารถพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้
รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ค้างและนำมาให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพ มีประมาณ 900 กว่าเรื่อง และเรื่องที่สำคัญของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คือ เรื่องมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชุดนี้มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพ พัฒนาและส่งเสริมงานมาตรฐานวิชาชีพ สิ่งที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชุดนี้ทำในสิ่งที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพในชุดเดิมไม่เคยทำ คือ ครูคนใดที่เคยได้รับรางว
ัลจากคุรุสภาไปแล้ว และเมื่อครูคนนั้นมีประวัติครูที่เสียหาย หรือไม่ปฏิบัติให้ตรงตามจรรยาบรรณของวิชาชีพเราจะดำเนินการเพิกถอนรางวัลที่ได้รับนั้น ถ้าครูคนใดอยู่ในระหว่างการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพเราจะไม่ดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ แต่ถ้าครูท่านใดอยู่ในระหว่างพักใช้ใบอนุญาตก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในครูผู้สอนได้ แต่เมื่อไหร่ที่ถูกเพิกถอนก็ไม่สามารถประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการให้รางวัลของคุรุสภา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเท และเพื่อส่งเสริมให้ครูพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
ที่มา : ประชาสัมพันธ์คุรุสภา