โดยประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จะต้องเร่งสรุปการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต่อไป และทั้งนี้ที่ประชุมได้รับรองการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคมที่ผ่านมา และกำหนดประเด็นปัญหาและสรุปเป็นข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา แบ่งเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านบริหารงานบุคคล และด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
– ด้านการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ๑) แผนปรับปรุงการผลิตครูเชิงปริมาณ ได้แก่ การจัดทำแผนความต้องการครู ราย ๑๐ ปี (๒๕๕๙-๒๕๖๘) และราย ๑๕ ปี (๒๕๕๙-๒๕๗๓) ๒) แผนยกระดับคุณภาพการผลิตครู ได้แก่ โครงการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพมาตรฐานคุณวุฒิ และระบบการควบคุมการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และโครงการคุรุทายาท
– ด้านการบริหารงานบุคคล ๑) การวางแผนยุทธศาสตร์และข้อมูลสารสนเทศ ๒) การพัฒนากรอบอัตรากำลัง ๓) การสรรหา บรรจุและแต่งตั้งการเปลี่ยนตำแหน่ง/ย้าย/โอน ๔) การประเมินวิทยฐานะ ๕) ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ๖) การเสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และ ๗) การตรวจสอบ ติดตามการใช้อำนาจ และการประเมินผล
– ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
๑) การพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน ๒๐ คน ด้วยการจัดโครงการพัฒนาผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน (จำนวน ๑,๐๕๙ โรง)
๒) โครงการการพัฒนาครูที่สอนไม่ตรงวิชาเอกในรูปแบบต่อยอดและเชื่อมโยง ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ๗,๐๖๘ โรงเรียน จำนวน ๓ รายวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
๓) โครงการพัฒนาครูที่สอนมากกว่า ๑ ห้องเรียน ซึ่งมีสภาพปัญหา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ผู้เรียนขาดคุณภาพ จำนวนโรงเรียน ๑๒,๓๙๓ โรงทั่วประเทศ
|