ประชุมความร่วมมืออธิการบดีไทย-อินโดนีเซีย

การประชุมความร่วมมืออธิการบดีไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 11




จังหวัดเชียงใหม่ – นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุมความร่วมมืออธิการบดีไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 11 (The 11th CRISU-CUPT International Conference 2016) จัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมดิ เอ็มเพรส เชียงใหม่ โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธาน ทปอ., ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้, ประธานสภาอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาอินโดนีเซีย, ผู้แทนจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, อธิการบดี, รองอธิการบดี, คณบดีจากสถาบันอุดมศึกษาไทย 27 สถาบัน และอินโดนีเซีย 30 สถาบัน ตลอดจนนิสิตนักศึกษา เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน



ก่อนการประชุม ที่ประชุมได้พร้อมใจยืนสงบนิ่ง
เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เป็นเวลา 9 นาที



รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันให้ความสำคัญกับ Global Challenges แต่จะทำอย่างไรให้ไปถึงความท้าทายนั้น ไม่มีใครรู้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้กล่าวถึงการทำนายและควบคุมอนาคตในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำนายหรือควบคุมอนาคตได้ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ บนโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


ดังนั้น การวางแผนเพื่ออนาคตเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรมองไกลเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายและทิศทางที่แน่นอน แต่การมีทิศทางการดำเนินการที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ ดังเช่นที่ Lord Sainsbury of Turville ได้กล่าวไว้ว่า “Too many directives, no direction”


การปฏิรูปการศึกษาก็เช่นกัน เนื่องจากการศึกษามีหลายสิ่งที่ต้องปฏิรูป คนจำนวนมากจากหลายหน่วยงานจึงเสนอข้อคิดเห็นและคำแนะนำต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นโครงการมากกว่า 160 โครงการ ซึ่งหากเราดำเนินโครงการที่เสนอมาทั้งหมด เด็ก ๆ คงต้องใช้เวลาเรียนตั้งแต่ 9 โมง ถึงเที่ยงคืน


อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาที่ดีควรเริ่มต้นที่การปรับปรุงหลักสูตร โดยต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับตำราเรียน การเรียนการสอน การฝึกอบรมครู และการวัดผลประเมินผล ทั้งหมดนี้ต้องมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันตามลำดับ สำหรับตำราเรียนที่เป็นหนังสือกับตำราที่เป็นสื่อการสอนโดยใช้เทคโนโลยีนั้น ย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะการอ่านหนังสือแบบตำรากับการอ่านหนังสือจากแท็บเล็ตมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน การอ่านหนังสือออนไลน์เด็กจะอ่านเมื่อไรก็ได้และมองว่าแท็บเล็ตเป็นที่เก็บข้อมูล แต่การอ่านหนังสือแบบตำราจะให้อีกความรู้สึกหนึ่ง และทำให้เด็กต้องจดจำและเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านจริง ๆ


ในส่วนของการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้น หากต้องการทดสอบความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ก็ต้องมีวิธีการประเมินผลที่เหมาะสม เช่น ไม่ควรออกข้อสอบแบบปรนัย เพราะข้อสอบปรนัยไม่สามารถวัดการคิดวิเคราะห์ได้ ดังนั้น การวัดผลประเมินผลต้องมีวิธีการที่ทำให้ได้ผลสะท้อนออกมาชัดเจน


นอกจากนี้ การศึกษามีความแตกต่างจากการอบรม กล่าวคือ การอบรม (Training) มีหลักการสำคัญคือ การมีแนวทางการปฏิบัติ (Principle : Guided Practice) เพราะความรู้และทฤษฎีต่าง ๆ ส่วนมากจะได้มาจากการฝึกฝน (Practice) อยู่เสมอ จนเกิดเป็นระดับความเชี่ยวชาญ 3 ระดับ ได้แก่ Competent Proficient และ Expert



รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เราต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กเรียนอย่างจริงจังและเรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่ดี พร้อมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อน ซึ่งการสอนสิ่งเหล่านี้ครูจะสอนได้ดีกว่าการใช้เทคโนโลยีมาเป็นสื่อในการสอน เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่สามารถสอนเรื่องดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง ครูจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการศึกษา เพราะครูคือผู้ให้ความรู้แก่เด็ก อีกทั้งวิธีการสอนของครูมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็ก ยกตัวอย่างวิธีการสอนของครูที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เช่น Michael Sandel ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีวิธีการสอนด้วยการกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งคำถามต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันได้รับเชิญไปบรรยายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีค่าบรรยายชั่วโมงละ 2 ล้านบาท







 

อนึ่ง การประชุมความร่วมมือระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย (CRISU-CUPT) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2548 ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ไทยและอินโดนีเซียหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นประจำทุกปี โดยผลจากการประชุมก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ความคิดเห็น ประสบการณ์การบริหารจัดการทางการศึกษา และการเรียนรู้ด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกัน ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้ รวมทั้งช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น


สำหรับการประชุมในปี พ.ศ.2559 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Global Challenges for the Future of Universities towards Having a Green Economy “ความท้าทายของโลกต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยสู่การมีเศรษฐกิจสีเขียว” โดยแบ่งกลุ่มการหารือออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เวทีอธิการบดี เวทีคณบดี และเวทีนิสิตนักศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของทั้งสองประเทศ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้ศึกษาดูงานการเกษตรและด้านอื่น ๆ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย


นอกจากนี้ จะมีการจัดประชุมไตรภาคีทางวิทยาศาสตร์ระหว่างอินโดนีเซีย-ไทย-ฝรั่งเศส เพื่อหารือความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันต่อไป


 




อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป / รายงาน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร : ถ่ายภาพ
29/10/2559