ประชุมทบทวนแผนงานภารกิจ
จังหวัดกาญจนบุรี – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อพบปะและหารือทำความเข้าใจกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด
ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนด้านทิศตะวันตกของประเทศ มีความเกี่ยวข้องใน 2 ภารกิจหลัก คือ
1)
2) การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนด้านตะวันตกแถบเทือกเขาตะนาวศรี
จากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ เห็นว่าจังหวัดกาญจนบุรีสามารถดำเนินการได้ตามกรอบงาน มีความร่วมมือ ร่วมใจ และบูรณาการการจัดทำแผนในระดับน่าพึงพอใจ แต่เมื่อมีแผนที่ดีแล้วต้องนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีด้วย จึงจะเกิดผลสำเร็จ ดังนั้นการนำแผนไปสู่ปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักให้มาก และในฐานะที่ กศจ. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญในระดับพื้นที่ เชื่อว่าจะสามารถนำแผนที่ดีที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น นำไปสู่การปฏิบัติที่ดีด้วย พร้อมสร้างการรับรู้ในทุกระดับให้ครบถ้วน ทั้งระดับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ระดับหน่วยงาน สถานศึกษาต่าง ๆ ไปจนถึงชุมชนสังคม ให้มีความเข้าใจถึงงานการพัฒนากำลังคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่น ๆ ของจังหวัดให้ก้าวไปข้างหน้าได้
สำหรับผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรี มีบางประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดการศึกษาแบบบูรณาการใน 4 โรงเรียนนำร่อง (โรงเรียนเทพมงคลรังษี, โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว, โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม, โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย) เช่น
– การพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการศึกษาแบบบูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการสร้างอาชีพ ทำให้เห็นคุณค่าของสังคมชุมชน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
– เพิ่มวิชาการเรียนรู้ อาทิ วิชาสังคมวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจ ชั้น ม.1, วิชาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ชั้น ม.2, วิชาการท่องเที่ยวและการจัดการสินค้าเกษตร ชั้น ม.3, วิชาเศรษฐศาสตร์กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ชั้น ม.5 เป็นต้น พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีในโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาเมียนมาเพื่อการสื่อสาร
– จัดการศึกษาเรียนร่วม (หลักสูตรทวิศึกษา) ในสาขาการบัญชี, ช่างไฟฟ้ากำลัง, ช่างยนต์ เป็นต้น
– กิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน อาทิ การจักสาน, การค้าออนไลน์, นาฏศิลป์, ก๋วยเตี๋ยวห้วยน้ำขาว-ทวาย, การแปรรูปกระเจี๊ยบ, ช่างอัญมณี
การอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการจัดการศึกษาในวิชาสามัญและหลักสูตรระยะสั้น รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ รองรับการค้าขายผ่านด่านถาวรชายแดน อาทิ ด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี
การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้จัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กและเยาวชนในบริเวณแนวชายแดน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความรู้ด้านทักษะอาชีพ การค้าขายแก่ประชาชนในตำบลต่าง ๆ พร้อมฉายหนังกลางแปลงสารคดีความรู้ พระราชกรณียกิจ ส่งเสริมความรักชาติ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน ตลอดจนตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชายแดน ส่งเสริมการมีงานทำ และพัฒนาอบรมนักประชาสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐกับประชาชน ชุมชน
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ จากที่ประชุมในการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาไม่ควรเน้นเฉพาะเรื่องวิชาการหรือการมีอาชีพเท่านั้น แต่ควรเน้นการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีคุณธรรมจริยธรรม ด้วยกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี
การเตรียมความพร้อมหน่วยงานจัดการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้สมบูรณ์
การยกระดับจุดแข็งให้มีมาตรฐานมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและการบริการ อาทิ พัฒนานวดแผนโบราณเป็นศูนย์สปา การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
การส่งเสริมศักยภาพนักเรียนนักศึกษาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี อาทิ สายเคเบิ้ลส่งสัญญาณต่าง ๆ เป็นต้น
การนำต้นแบบการดำเนินงานหรือโมเดลที่ดี ๆ ที่มีอยู่แล้ว มาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อาทิ สตูลโมเดล แก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคัน เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
9/9/2560