ประชุมวิชาการสุราระดับชาติ

การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 9


กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 9 (The 9th National Alcohol Conference) หัวข้อ “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ให้พ้นภัยจากสุรา” ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2559 โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการครั้งนี้

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดว่า  สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกลายเป็นกลุ่มที่ต้องตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีการปกป้องและพิทักษ์สิทธิของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในสังคมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ปลอดสิ่งเสพติด ซึ่งพบว่าบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

การสร้างสังคมให้ปลอดภัย ถือเป็นบทบาทของภาคส่วนที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย โดยในการประชุมวิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานเพื่อสร้างนโยบายและวิธีป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบทบาทที่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายการจำกัดและการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางกายภาพและเศรษฐศาสตร์ การโฆษณาและการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นตามมาตรฐานสากล การปกป้องผลกระทบจากข้อตกลงทางการค้าเสรีระหว่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่สัมพันธ์กับการดื่มสุรา และการดูแลและบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “สานพลังพิทักษ์สิทธิเด็กและเยาวชน ให้พ้นภัยจากสุรา” ตอนหนึ่งว่า การลงทุนแก้ปัญหาหรือพัฒนาด้านต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐให้เกิดความคุ้มค่า ควรให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กแรกเกิด (อายุ 0 ขวบขึ้นไป) หรือก่อนเข้าโรงเรียน (Preschool) หรือยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งดี เพราะเป็นเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาการทางสมอง การเลี้ยงดู โภชนาการ จิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุเช่นในเวลานี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำอะไรไม่ได้มากนักหากดูแลเด็กเมื่อสายไป จึงเป็นหน้าที่ของหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้เกิดน้อยลง โดยเรื่องของสุราก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ต้องร่วมมือดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม เด็กในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 7 ล้านคน กว่าร้อยละ 70 ถูกจัดให้เป็นเด็กด้อยโอกาส ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ด้วย และเมื่อกล่าวในแง่ของการดูแลเด็ก ก็ต้องเข้าใจจิตวิทยาของเด็กหรือมนุษย์ด้วย เช่น คนอายุเกิน 25 ปี จะสั่งให้ไปฝืนทำอะไรที่เคยทำมาตลอดชีวิตจะเป็นเรื่องที่ยากมาก หรือนิสัย (Character) ในช่วงที่เป็นเด็ก ๆ หากเป็นเพียงแค่แกะเล็บ ปัสสาวะรดที่นอน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ไม่น่าห่วง เพราะจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือ นิสัยเกเร เถียงพ่อแม่ ซึ่งนิสัยเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นนิสัยในอนาคตที่จะคุมยากกว่า

สิ่งสำคัญอีกประการที่มีผลต่อนิสัยของเด็ก ๆ ก็คือ ครอบครัวและครูควรจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าครอบครัวที่มีการยัดเยียดเรื่องคุณธรรมให้ตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นมีแนวโน้มจะเห็นแก่ตัวมากกว่า ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองและครูจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ ทำนิสัยที่ดีเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เช่น การตรงต่อเวลา การไม่ดื่มเหล้าเบียร์ เป็นต้น


นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์ โพล (Super Poll) ได้เปิดเผยถึงผลวิจัย เรื่อง “เกาะรั้วประเมินมาตรการคุมร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย” ซึ่งได้ทำการสำรวจพิกัดจุดจำหน่ายร้านเหล้าด้วยระบบ GIS และความคิดเห็นของนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป รอบรั้ว 15 มหาวิทยาลัยทั่วกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 2559 พบว่าพื้นที่ในรัศมี 300 เมตรรอบมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่งมีจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยที่สุดคือ 3.4 ร้าน/ตร.กม. และมากที่สุด คือ 114.3 ร้าน/ตร.กม.

สำหรับพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยมีการบังคับใช้มาตรการคุมร้านเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดต่อเนื่อง ส่งผลให้มีจุดจำหน่ายเหล้าเบียร์น้อยลง ยอดขายลดลง ก่อความเดือดร้อนรำคาญน้อยลง การทะเลาะวิวาทลดลง และร้านค้าเหล่านี้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกฎหมายมากกว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีการบังคับใช้ที่เข้มข้น ซึ่งผลเหล่านี้ยืนยันได้จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้ประกอบการร้านเหล้าทั้งในพื้นที่หนาแน่นมากและเบาบาง รวมทั้งประชาชนและนิสิตนักศึกษาในทั้ง 2 พื้นที่

ผลการศึกษาสะท้อนว่า คณาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นด้วยกับมาตรการคุมร้านเหล้าฯ รอบรั้วมหาวิทยาลัยและเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อเนื่องนั้น จะทำให้มีจุดจำหน่ายร้านเหล้าลดลง ปัญหาทะเลาะวิวาทลดลง ความเดือดร้อนรำคาญลดลง เป็นผลดีต่อการปกป้องรักษาคุณภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนั้นหากมาตรการมีความชัดเจน ย่อมเกิดผลดีมากยิ่งขึ้นต่อการลดปัญหาการดื่มของเยาวชน และถือเป็นการจัดสภาพแวดล้อมเชิงสุขภาวะที่ดีให้กับนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยตามกรอบกฎบัตร “ออตตาวา (Ottawa Charter)” ด้วย


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
24/11/2559