พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมแสดงผลการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และงานนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) พร้อมบรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” และมอบโล่รางวัลชุมชนต้นแบบระดับสำนักงาน กศน. 19 แห่ง และรางวัลชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด 53 แห่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม 2561 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บริหารเข้าร่วมประชุม อาทิ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน., นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหารสำนักงาน กศน. ทั่วประเทศ
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังรับฟังผลดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ และเห็นถึงความมุ่งมั่นที่ทุกคนต้องการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าสำนักงาน กศน. สามารถเป็นที่พึ่งที่ปรึกษาแก่ประชาชน ตลอดจนให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อเป็นกรอบการทำงานให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน เดินสู่เป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์หลัก 6 ด้าน ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงาน กศน. ถือว่ามีความเกี่ยวข้องครอบคลุมในทุกยุทธศาสตร์ และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบหลักการมีส่วนร่วม 10 แนวทาง ได้แก่ 1) สัญญาประชาคม ผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิถีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function)
การดำเนินงานโครงการ ได้เน้นสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล หมู่บ้าน และชุมชน โดยมีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า “ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ” พร้อมได้ขอให้มีการทบทวนการดำเนินงาน โดยสิ่งใดเกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และส่วนใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องเร่งพัฒนาให้ถูกต้องและตรงกับบริบทของพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการให้พิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ “โครงการชุมชนต้นแบบ” ซึ่งเกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องควรมีการขยายผลชุมชนต้นแบบเพิ่มเติมทั้งในระดับอำเภอและระดับตำบล เสมือนชุมชนต้นแบบคือสัญลักษณ์ของสำนักงาน กศน. ในโครงการไทยนิยม ยั่งยืน
ในส่วนของการพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบ ควรคำนึงถึงบริบทและศักยภาพที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยตั้งเป้าหมายจะขยายผล “ชุมชนต้นแบบระดับตำบล” ให้ครบทั้ง 7,424 ตำบล ภายในปี 2561 เพื่อมอบเป็น “ของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน” ด้วย
ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น พ้นจากความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ ก็ถือเป็นอีกภารกิจที่สำคัญที่สำนักงาน กศน. จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในหลายส่วน ดังนี้
-
การขยายผลกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมหลักสูตร e-Commerce เพิ่มขึ้นเป็น 3.2 แสนคน และในพื้นที่ที่มีความต้องการ
-
การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนนอกระบบการศึกษา ที่จะต้องมีการสำรวจข้อมูลอย่างรอบคอบหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนก่อนที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ซึ่งในเรื่องนี้ดำเนินประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยวิธีเคาะประตูบ้านเพื่อตามหาประชากรวัยเรียน จนสามารถนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จำนวน 45,890 คน หรือร้อยละ 60 ของจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และได้รับการชื่นชมจากยูเนสโก โดยจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอในการประชุมอาเซียน เพื่อถ่ายทอดให้ประเทศสมาชิกรับทราบด้วย
-
การดูแลสุขภาวะ สุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ครู กศน. ทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลและป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมประเมินผลเพื่อสะท้อนความเห็นของประชาชนและนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน
-
การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งการอ่าน เขียน พูด ฟัง โดยมีการวางแผนงานที่เป็นระบบชัดเจน ตามหลักคิด “คิดให้ครบ ทบทวนเป็นห้วง ๆ ห่วงการรับรู้ สู่การบูรณาการ” พร้อมใช้กระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนสื่อต่าง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการมีอยู่แล้วอย่างจริงจัง อาทิ การแจกรูปสะกดคำ, ตำราที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น
-
การเพิ่มอัตราการอ่านของประชาชน สำนักงาน กศน. เตรียมจัดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2561” ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาตินงนุช จังหวัดชลบุรี ภายใต้แนวคิดหลักของยูเนสโก “Literacy and Skills Development” (การรู้หนังสือและการพัฒนาทักษะของประชากรในศตวรรษที่ 21) เพื่อรณรงค์และเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
พล.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านอาชีวศึกษาซึ่งดูแลรับผิดชอบด้วยว่า มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งดำเนินการจัดตั้งแล้วครบทั้ง 6 ภาค โดยใช้แนวทางการทำงานประกอบด้วย “1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด” และหากมีการจัดตั้ง กศน.ในระดับภาค ก็จะช่วยส่งเสริมเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับศูนย์ประสานงานฯ ของอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้แก่ผู้เรียนในระบบการศึกษานอกระบบด้วย ทั้งนี้ได้มีการบูรณาการข้อมูลความต้องการกำลังคนอาชีวะกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมเป็น Big Data ด้านกำลังคนอาชีวศึกษา ที่จะมีความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในมิติของเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะรวบรวมข้อมูลนักศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องการต่อยอดการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำเข้ามาเรียนอาชีวศึกษานอกระบบให้มากขึ้น