ประชุม ก.พ.อ.

ผลประชุม ก.พ.อ. 9/2558

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) – นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 9/2558 เมื่อวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5



เห็นชอบแนวทางการขอรับงบประมาณเพื่อเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญในสถาบันอุดมศึกษา ร้อยละ 8


จากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายวิชาการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 แต่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ไม่ได้ปรับอัตราเงินเดือนให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเช่นเดียวกับ ก.ค.ศ.


ต่อมามติที่ประชุม ก.พ.อ.เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมกันกัน เพราะทำหน้าที่สอนเหมือนกัน จึงควรมีการเยียวยาค่าตอบแทนให้เช่นเดียวกัน และได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตามลำดับ


ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประชุมเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยา (ร้อยละ 8) โดยที่ประชุมเห็นว่าต้องมีการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวในภาพรวม เพราะมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้เสนอขอปรับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ และจะต้องไม่เป็นภาระงบประมาณของแผ่นดิน จึงมีมติเห็นควรให้ปรับเพิ่มเงินเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป


สกอ.จึงนำเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ก.พ.อ.ครั้งนี้ได้พิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญในสถาบันอุดมศึกษา สายวิชาการ (ร้อยละ 8) จำนวนทั้งสิ้น 19,696 คน แยกเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ 4,571 คน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 4,152 คน, มหาวิทยาลัยส่วนราชการ 7,237 คน และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 3,736 คน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยใช้งบประมาณจำนวน 740 ล้านบาท (รวมค่าใช้จ่ายบำเหน็จล่วงหน้าแล้ว) และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป



เห็นชอบการจัดสรรทุนเพื่อผลิตอาจารย์ปริญญาเอกและทุนพัฒนาหลังปริญญาเอก 5,000 ทุน วงเงิน 14,915 ล้านบาท


ที่ประชุมเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก โดยเป็นการจัดสรรทุนระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก จำนวน 5,000 ทุน ในระยะ 5 ปีแรก และผูกพันงบประมาณไปอีก 5 ปี ในวงเงิน 14,915 ล้านบาท ดังนี้


ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ 4,750 ทุน ซึ่งจะทำให้ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า สถาบันอุดมศึกษากลุ่มเก่า : จะมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 1,960 คน ซึ่งจะทำให้มีสัดส่วนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 67 และสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ : จะเพิ่มขึ้นอีก 2,790 คน ซึ่งจะทำให้เพิ่มสัดส่วนจากร้อยละ 17 ไปสู่ร้อยละ 29 โดยคาดว่าจะมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI หรือ Scopus เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,750 เรื่องในระยะ 10 ปีข้างหน้า


ทั้งนี้ แนวทางการจัดสรรทุนดังกล่าว จะพิจารณาให้ไปศึกษาต่อในสาขาวิชาที่มีสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นสาขาที่มีความจำเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นสาขาวิชาที่ทดแทนการเกษียณอายุราชการ ตลอดจนตามความต้องการของอุดมศึกษา ใน 20 เครือข่าย คือ ด้านพื้นฐานพลังงาน, พลังงานทางเลือก/พลังงานทดแทน, การตรวจสอบพลังงานและสิ่งแวดล้อม, วิศวกรรมไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์/โทรคมนาคม, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์/วิทยาการ, เทคโนโลยีด้านรางรถไฟ, ยานยนต์และการขนส่งแบบใหม่, รถไฟความเร็วสูง, เกษตรกรรมและอาหาร, ปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี/แก็สธรรมชาติ, การแพทย์/เภสัช/สุขภาพ, โลจิสติกส์/ห่วงโซ่อุปทาน, การท่องเที่ยวและนันทนาการ, นวัตกรรมด้านการศึกษาและการผลิตครู, มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, กฎหมายพื้นฐาน/กฎหมายระหว่างประเทศและการเมือง, วิทยาศาสตร์พื้นฐานและการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม, กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายของสาขาวิชาที่เป็นแนวโน้มใหม่ของโลก


ทุนพัฒนาอาจารย์หลังปริญญาเอก 250 ทุน  ซึ่งจะส่งผลให้อาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกแล้ว ได้มีกระบวนการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยเพิ่มขึ้น 250 คน รวมทั้งมีเครือข่ายกับบุคลากรต่างประเทศในระยะ 10 ปี ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI หรือ Scopus เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 500 เรื่องในระยะ 10 ปีข้างหน้า



การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ….


ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการเสนอผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เสนอให้เพิ่มอีก 4 กลุ่ม คือ ปอมท./ทปสท./ปคมทร./CHES


ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งหากเรื่องกลับออกมาก็จะต้องส่งให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณารับฟังความคิดเห็น รวมทั้งให้ที่ประชุม ก.พ.อ.พิจารณาต่อไป



การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น


ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
– ผู้ช่วยศาสตราจารย์
จำนวน 60 ราย แยกเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิม 33 ราย มหาวิทยาลัยราชภัฏ 14 ราย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 13 ราย
– รองศาสตราจารย์ จำนวน 29 ราย แยกเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเดิม 25 ราย มหาวิทยาลัยราชภัฏ 2 ราย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 2 ราย


ที่ประชุมให้ความเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
– ศาสตราจารย์ จำนวน 13 ราย
จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 1 ราย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 ราย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 ราย, มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ราย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ราย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 ราย


นอกจากนี้ ได้อนุมัติกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์วรพงษ์ มนัสเกียรติ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง ในสาขาวิชาตจวิทยา (โรคผิวหนัง) มหาวิทยาลัยมหิดล.



การประชุม ก.พ.อ.ครั้งที่ 9/2558
โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธาน ก.พ.อ.
มอบให้นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธานการประชุมแทน  ภาพ :
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี



บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
28/10/2558