ประชุม คกก.Partnership School ที่บุรีรัมย์

                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                     

จังหวัดบุรีรัมย์​ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์​ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน​ 2561 เพื่อตรวจเยี่ยมโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่โรงเรียนบ้านโคกขามโนนสมบูรณ์​ อำเภอชำนิ  พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partnership School ครั้งที่ 8/2561 ณ โรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ โดยมี รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุรพล เศวตเศรนี ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายมีชัย วีระไวทยะ คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนร่วมพัฒนา, นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นายณรงค์​ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวง​ศึกษาธิการ, นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน ตลอดจนผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม

  • ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านโคก​ขามโนนสมบูรณ์​ อ.ชำนิ (ภาคเช้า)

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า โรงเรียนบ้านโคกขามโนนสมบูรณ์ เป็น 1 ใน 50 โรงเรียนแรกตามโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ​ ในการที่จะยกระดับคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาโดยรวมของทั้งประเทศ โดยมีหลักการที่สำคัญ 4 ด้าน คือ

  • ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการทำงานของระบบราชการ สามารถดึงคนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาสถานศึกษาได้มากขึ้น

  • ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เพื่อให้ลูกหลานมีอนาคตที่สดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการบริหารจัดการให้เป็นโรงเรียนเตรียมอาชีพให้เด็ก ๆ

  • ต้องปรับตัวให้เป็นศูนย์กลางวางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้เชื่อมโยงกับชุมชน หรือช่วยแก้ปัญหาของชุมชน

  • สามารถจัดการศึกษาภายใต้ความมีอิสระ 3 เรื่อง คือ อิสระในการออกแบบหรือปรับหลักสูตร อิสระในการออกแบบหรือจัดการเรียนการสอน และอิสระในการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ​ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คาดหวังให้โรงเรียนร่วม​พัฒนา​เป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นทั่วประเทศ ด้วยการปรับทัศนคติใหม่ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เน้นทักษะการสร้างอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์และสร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

นายมีชัย วีระไวทยะ กล่าวว่า โรงเรียนร่วมพัฒนามีแนวทางในการสร้างเด็กให้เป็นคนดี ฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ให้มีความเก่งและมีความสามารถ สร้างเด็กให้รู้จักการแบ่งปัน ส่งเสริมให้เด็กมีอาชีพ ในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เด็กและผู้ปกครองในชุมชนนำเงินไปลงทุนสร้างอาชีพด้วยตนเอง ทำให้เด็กไม่ทิ้งบ้านเกิดและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน โรงเรียนต้องทำให้ผู้ปกครองหายยากจน เป็นประตูแห่งการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน หรือเป็นโรงเรียนที่เตรียมอนาคตในด้านต่าง ๆ สำหรับเด็ก เช่น เตรียมเด็กให้เป็นครู​ด้วยการฝึกให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง, เตรียมเกษตรโดยสอนให้นักเรียนมีทักษะการปลูกพืชและการเกษตร, เตรียมท่องเที่ยวด้วยการพานักเรียนไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ เป็นต้น

หลักการก็คือเมื่อเด็กต้องการประกอบอาชีพอะไร ครูก็พาเด็กไปสร้างความคุ้นเคยกับอาชีพนั้น อย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากสถานที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เด็กรู้ตนเองว่าชอบอาชีพนั้นหรือไม่ เนื่องจากผู้อำนว​ยการโรงเรียน​และครู คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด และเป็นคนสร้างเด็ก จึงขอฝากให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และคนในชุมชน ช่วยกันพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จอย่างจริงจังด้วย

นายสุรพล เศวตเศรนี กล่าวว่า ในนามไทยเบฟ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาครัฐและคนในชุมชน ตามโครงการโรงเรียน​ร่วม​พัฒนา​ โดยไทยเบฟได้ให้การสนับสนุนโรงเรียน​ร่วม​พัฒนา​จำนวน 19 โรงเรียน​ จาก 50 โรงเรียนในระยะแรก สำหรับสิ่งที่ไทยเบฟได้ดำเนินการ คือ การนำความชำนาญในเรื่องของความรู้ด้านการทำธุรกิจเข้ามาเสริมและเติมเต็มในโรงเรียน อีกทั้งไทยเบฟมีเครือข่ายบริษัทที่หลากหลายและมีความชำนาญหลากหลาย จึงได้นำความร่วมมือในส่วนนี้มาช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการมีคุณธรรมและจริยธรรม ให้กับเยาวชนในโครงการ ตลอดจนนำหลักของ “บวร” คือ การพัฒนาบ้าน วัด และโรงเรียน มาขยายผลเป็น “บวร” ซึ่งได้แก่ บริษัท วิสาหกิจชุมชน และส่วนราชการ พื่อทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นการไม่เพิ่มภาระให้โรงเรียน ในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสในการฝึกทักษะให้เยาวชนสามารถเติบโต พึ่งพาตนเอง และพร้อมช่วยเหลือสังคม

นอกจากนี้ ไทยเบฟ​ยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง​ และได้มีการเตรียมแผนงานเพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในระยะแรกที่มีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อเตรียมพร้อมการทำงานด้านต่าง ๆ ให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง

น.ส.สุจรรยา ขาวสกุล ผอ.โรงเรียนบ้านโคกขามโนนสมบูรณ์ กล่าวว่า โรงเรียนบ้านโคกขามโนนสมบูรณ์​มีจุดแข็ง คือ การมีผู้นำและคนในชุมชนมีความพร้อมและช่วยกันพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้เข้มแข็งและแข็งแกร่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากไทยเบฟในการเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ​ที่ปรึกษาของโรงเรียน ด้วยการศึกษาสภาพปัญหาและร่วมวางแผนกับคณะกรรมการ​สถานศึกษาและผู้นำชุมชน โดยมีเป้าหมายคือสร้างคนที่มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และเป็นคนที่มีคุณภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียน​ร่วม​พัฒนา​ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไปในทางที่ดี เช่น โรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย​ราชภัฏบุรีรัมย์ในการเป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ช่วยแนะนำการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เป็นต้น​


  • การประชุม “คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partnership School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0″ ครั้งที่ 8/2561 ที่ รร.มีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ (ภาคบ่าย)

ในภาคบ่าย ศ.คลินิก นพ.อุดม​ คชินทร​เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partner Ship School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบาย Thailand 4.0 ครั้งที่ 8/2561 ณ​ โดมเวฬุสโมสร โรงเรียนมีชัยพัฒนา​ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสรุปผลการประชุมดังนี้

– ผลการตรวจเยี่ยมโรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2561

ที่ประชุมได้สรุปการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา​ (Partnership School Project) ภาคเรียนที่ 1/2561 ถึงปัจจุบัน มีกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนการพัฒนาจำนวน 11 บริษัท 1 มูลนิธิ และมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 1 จำนวน 50 โรงเรียน​ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ (ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ คชินทร) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบนโยบายแก่สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยยึดวัตถุประสงค์​ 4 ข้อ​ คือ 1) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง​ ๆ 2) เพื่อพัฒนาคุณภาพและรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา 3) เพื่อให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต 4) เพื่อให้สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาประสบความสำเร็จ คือ​ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน​ และการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนานักเรียนเชื่อมโยงสู่การแก้ไขปัญหาชุมชน​ และสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับคนทุกช่วงวัยในพื้นที่​ ซึ่งครูจะเป็นผู้ผลักดันที่สำคัญเพราะอยู่ใกล้ชิดเด็กและชุมชนมากที่สุด​ โดยปรับบทบาทเป็นการแนะนำ​ ให้คำปรึกษา​ อำนวยความสะดวก​ หรือคอยตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง​ ส่งเสริมให้เด็กเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งการจะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนที่ดีและมีคุณภาพ​ จะต้องได้รับการปลูกฝังการศึกษาตั้งแต่ระดับเล็ก​ ๆ​ โดย​ ศธ.ได้ดำเนินการในหลายส่วนควบคู่กันไป​ เพื่อหล่อหลอมให้เด็กเติบโตเป็นกำลังคนที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและประเทศ

ในการตรวจเยี่ยมตลอดภาคการศึกษา 1/2561 ที่ผ่านมา​ มีข้อสังเกตว่าชุมชน​ องค์กรส่วนท้องถิ่น​ และภาคเอกชน​ให้ความสนใจ​ และร่วมมือสนับสนุนโครงการเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนบริษัทเอกชนที่เป็นผู้สนับสนุน​ มีความตระหนักและเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษา รวมถึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาในลำดับต่อไปคือ​ ควรมีรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนให้กับสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาและผู้สนับสนุนเป็นระยะ​ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรุงแก้ไขปัญหา​ ควบคู่​กับการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้เป็น​ไปในทิศทางเดียวกัน

นายดุสิต​ เขมะศักดิ์ชัย ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่​ บริษัท​ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด​ (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มไทยเบฟได้สนับสนุนโรงเรียนร่วมพัฒนาในหลายด้าน​ ซึ่งที่ผ่านมามีผลตอบรับของโรงเรียนเป็นอย่างดี และมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้โรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สิ่งรอบตัว​ โดยเริ่มต้นทำแผนชุมชนของโรงเรียน​ ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีแผนของตนเองในระดับตำบลหรืออำเภอ​ตามความเหมาะสมของพื้นที่

นายมีชัย วีระไวทยะ​ ในฐานะประธานมูลนิธิมีชัยวีระไวทยะ​ กล่าวว่า ในการจัดการศึกษาจะต้องไม่ลืมครู​ นักเรียน และ​ชุมชน​ สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้นักเรียนทำธุรกิจเป็น สร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นมาให้ได้ ที่ผ่านมาเรามีการส่งเสริมความรู้ด้านอาชีพให้โรงเรียนมาตลอด และปัจจุบันควรมีการเน้นเรื่องวิชาการหรือทักษะ​ในการทำธุรกิจอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีหลักการคือ 1) จะสอนด้านทักษะ​วิชาการเกี่ยวกับการทำธุรกิจอะไรให้กับนักเรียน 2) ผู้ปกครองและชุมชนต้องเกิดความรู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือ 3) จะใส่ความรู้อะไรให้ครูบ้าง 4) ขอให้มีวิสาหกิจเพื่อสังคม และสอนให้ทุกคนรู้ว่าธุรกิจทำอย่างไร​ สามารถแบ่งปันกันได้อย่างไร​ และทำไมจะต้องแบ่งปันกัน

ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า อีกไม่นานจะมีการปลดล็อคระเบียบที่จะสามารถทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และต้องการให้มีการนำผู้บริหารสถานศึกษามาพูดคุยหารือกันเป็นระยะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน​ ตลอดจนขอให้มีการทำเวิร์คช็อปผู้สนับสนุน เพื่อเป็นการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด

– การติดตามประเมินผลโครงการ “เน้นรูปแบบการส่งเสริมศักยภาพตามความถนัด”

รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ กรรมการ​บริษัท​ มิตรผล​ จำกัด นำเสนอแนวคิดการประเมินโรงเรียนร่วมพัฒนาให้เป็นการประเมินเพื่อเปิดมุมมองในทุกมิติทั้งชุมชน สามารถเป็นกระจกสะท้อนหาจุดแข็งและเสริมต่อยอด รวมถึงจุดที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น​ เพื่อช่วยในการวางแผน (Action Plan)​ในอนาคตอย่างต่อเนื่อง​ ซึ่งการประเมินจะมีทั้งเชิงปริมาณ เช่น​ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ข้อมูลสถิติต่าง​ ๆ​ เป็นต้น​ และการประเมินเชิงคุณภาพ โดยยึดหลักการประเมินคือการยอมรับความหลากหลาย (Room for Diversity) การประเมินเชิงบวก (Positive Evaluation) และการประเมินควบคู่กับการปฏิบัติ (Practice-Oriented Development)

ศ.คลินิก​ นพ.อุดม​ คชินทร​กล่าวว่า​ แนวทางดังกล่าวเป็นการประเมินยุคใหม่ที่ต้องทำให้ง่าย​ สอดคล้องกับนโยบายของ​ ศธ. โดยเน้นให้โรงเรียนกำหนดเป้าหมายและแสดงหลักฐานให้เห็น​ ถือเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของการศึกษาไทยที่ต้องมีหลากหลายรูปแบบตามบริบทของแต่ละแห่ง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองมาได้แล้วในระดับหนึ่ง​ ดังนั้นจะจัดการศึกษาแบบสมัยก่อนไม่ได้​ โรงเรียนต้องปรับแนวคิดใหม่โดยครูจะเติมเต็มสิ่งที่เด็กขาดทั้งด้านความรู้​ ทักษะ​ สมรรถนะ​ การฝึกปฏิบัติ​ หรือการบ่มเพาะด้านต่าง​ ๆ​ ที่สำคัญจะต้องดึงความถนัดของเด็กออกมาแล้วสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดศักยภาพอย่างสูงสุด ขณะที่การประเมินโรงเรียนจะต้องมองไปข้างหน้า​ สามารถตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ และเป็นการส่งเสริมไม่ใช่การควบคุม

– การคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ รุ่นที่ 2

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา​ จำนวน 42 โรงเรียน​ แบ่งเป็นโรงเรียนที่มีผู้ให้การสนับสนุนแล้วจำนวน 16 โรงเรียน (9 บริษัท) โรงเรียนที่ยังไม่มีผู้ให้การสนับสนุน​ จำนวน 26 โรงเรียน และบริษัทผู้สนับสนุนแต่ยังไม่มีโรงเรียน​ จำนวน 4 บริษัท ซึ่งกลุ่มโรงเรียนที่มีผู้ให้การสนับสนุนแล้วนั้น​ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้พิจารณาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 ภาคด้วย ซึ่งขณะนี้ยังขาดโรงเรียน​ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และจังหวัดกาญจนบุรี​ (ภาคกลาง) ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สพฐ. และคณะทำงานนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณา​ร่วมกับโรงเรียนและบริษัทที่ยังไม่ได้จับคู่กันด้วย

– เดินหน้าสร้างการรับรู้​โครงการ​โรงเรียนร่วมพัฒนา

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานแผนการประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่จะ​ส่งผลต่อความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในช่วงภาคเรียนที่ผ่านมาผ่านสื่อต่าง ๆ อยากหลากหลาย รวมทั้งแผนการดำเนินงานระยะต่อไป ที่จะมีการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

1. On Air : ในรายการต่าง ๆ ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง​ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างผ่านสื่อหลัก เช่น​ รายการ​ ศธ.360 องศา, รายการเดินหน้าประเทศไทย, รายการเดินหน้าประเทศไทยวัยทีน, สถานีวิทยุ FM 92.0 MHz เป็นต้น
     2. Online : ทาง Social Media ต่าง​ ๆ​ อาทิ Facebook-Twitter-YouTube ศธ.360°, เว็บไซต์หลักของกระทรวงศึกษาธิการ และข่าวสำนักงานรัฐมนตรี, Viral Video​เป็นต้น
      3. On Ground โดย​ ศธ.จะมีการจัดงานวันครูประจำปี 2562 ในวันที่ 16-18 มกราคม 2562 ซึ่งในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของ ศธ. รวมทั้งโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาด้วย โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คนต่อวัน

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การประชาสัมพันธ์โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง​ โดยเน้นย้ำให้สร้างการรับรู้ที่มีผลกระทบมากขึ้น​ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และต้องการให้ทีมประชาสัมพันธ์ของภาคเอกชนเข้ามาร่วมงานกับทีมประชาสัมพันธ์ของ​ ศธ.ด้วย​ เพื่อช่วยเปิดมุมมองการทำงาน สร้างสีสันให้มีผลงานออกมาหลายมิติ ซึ่งผู้แทนกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลจะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือเพื่อดำเนินการต่อไป


โอกาสที่ได้มาประชุมครั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนมีชัยพัฒนา​ โดยมีนักเรียนในฐานะมัคคุเทศก์น้อยนำเยี่ยมชม เช่น กิจกรรมส่งเสริมอาชีพของนักเรียน​ฐานการเรียนรู้ธุรกิจโซล่าเซลล์ ฐานการเรียนรู้ธุรกิจสกรีนแก้ว​ ฐานการเรียนรู้ธุรกิจไฮโดรโปนิกส์ และห้องเรียนต่าง​ ๆ​ เป็นต้น โดย​ รมช.ศึกษาธิการได้กล่าวชื่นชมโรงเรียนมีชัยพัฒนาว่าสามารถเป็นโรงเรียนต้นแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ได้อย่างดี เห็นได้ชัดจากการที่เด็กสามารถสื่อสารและแสดงออกได้อย่างคล่องแคล่ว​ เป็น​ความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับโรงเรียนมีชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้นเมื่อ​ พ.ศ 2552 โดยสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมกับมูลนิธิมีชัย​วีระไวทยะ​ สำหรับนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่อยู่อาศัยในชนบท​ มีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตและศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนรอบโรงเรียน เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง​โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกงานในหน่วยงานภาคเอกชนต่าง​ ๆ​ ช่วงปิดภาคเรียน​ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนประจำโรงเรียนเพื่อสนับสนุนเงินลงทุนในการทำธุรกิจ​ รวมถึงการฝึกให้ผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถทำการเกษตรได้​ นักเรียนสามารถกู้ยืมเงินไปลงทุนทำธุรกิจเป็นกลุ่มและสามารถกู้ยืมไปลงทุนทำธุรกิจร่วมกับครอบครัวและผู้สูงอายุ เนื่องจากเชื่อว่าโรงเรียนที่ดีจะต้องสามารถช่วยเหลือผู้ปกครองให้หลุดพ้นจากความยากจนได้


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, ปารัชญ์ ไชยเวช
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร