การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่าน DLTV อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) – พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม “การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รศ.นราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมการประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่ห้องประชุมอาคาร 4
นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวรายงานถึงการจัดการประชุมในครั้งนี้ว่า ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก โดยการขยายผลโครงการพัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) ไปยังโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยรับสัญญาณการจัดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดแนวทางการติดตามและรายงานผลด้วย
1) การประเมินแบบออนไลน์ พบว่าการดำเนินงานขั้นพื้นฐานของโรงเรียนตามยุทธศาสตร์ 4 5 6* สิ่งที่ครูผู้สอนปฏิบัติได้ดี คือ สามารถจัดห้องเรียนได้เหมาะสม เอื้อต่อการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนไปพร้อมกับครูต้นทางโดยครูผู้สอนมีการสรุปสาระสำคัญร่วมกับนักเรียนและบันทึกผลการจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งมีการวัดและประเมินผลหลังการจัดการเรียนการสอนแต่ละหน่วยการเรียนรู้
2) จากการรายงานการนิเทศ กำกับ ติดตาม และรายงานผลเชิงประจักษ์ของ สพฐ. พบว่านักเรียนมีความพร้อม กระตือรือร้นต่อการเรียน และมีความสนุกสนาน ในส่วนของครู มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทเรียนที่สอน มีการเตรียมความพร้อมทั้งสื่อวัสดุ อุปกรณ์ ก่อนการปฏิบัติงานตามคู่มือพระราชทาน และจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องสัมพันธ์กับครูต้นทาง
3) สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ผู้ปกครอง ครูและนักเรียน พบว่า ร้อยละ 98.45 เห็นว่าโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีประโยชน์มาก และร้อยละ 98.45 มีความพึงพอใจถึงพึงพอใจมาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการของในหลวง ซึ่งเปิดโอกาสทางการศึกษา ทำให้นักเรียนได้เรียนกับครูที่มีความรู้ความชำนาญ มีวิธีการสอนที่หลากหลายน่าสนใจ
4) ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีผลการทดสอบ National Test (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่อย่างเด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2556 ส่วนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีผลคะแนนเฉลี่ยของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สูงขึ้นเช่นกัน
ในปีการศึกษา 2558 สพฐ.ได้กำหนดแผนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกำหนดจัดการประชุมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครูโรงเรียนขนาดเล็กปลายทางผ่าน DLTV ในครั้งนี้ เพื่อรายงานผลการขยายผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ผ่านมา ทบทวนแนวทางการบริหารโรงเรียนและการพัฒนาห้องเรียน และกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ และรายงานผลการประชุมทางไกล “DLTV Report” มีโรงเรียนปลายทางจำนวน 15,369 โรงเรียน รวมทั้งผู้บริหารและครูโรงเรียนที่มีผลการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2557 อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงของการเสวนาด้วย
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาตั้งแต่ปีการศึกษาที่ผ่านมาตามนโยบายของ คสช.และรัฐบาลที่สืบต่อเนื่องมาจนเป็นผลสำเร็จตามที่ได้รับรายงานจากรองเลขาธิการ กพฐ. จะเห็นได้ว่าการวัดผลที่ผ่านมา ถือว่าคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กใน 15,369 โรงเรียน มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลการทดสอบ O-NET หรือ NT หรือแม้กระทั่งการวัดผลความพึงพอใจของประชาชนที่มีความพึงพอใจมาก
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีแผนงานที่จะต้องดำเนินการให้เกิดความมั่นคง ต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป ถือเป็นความภาคภูมิใจ เป็นงานที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้า อีกทั้งเป็นการทำงานถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในครั้งนี้
นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านการศึกษาของชาติที่ได้มอบหมายกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีหลายเรื่องที่จะดำเนินการในห้วงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน เช่น แก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งมีเป้าหมายว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ การสอดแทรกค่านิยมหลัก 12 ประการ การพัฒนาภาษาอังกฤษเพื่อให้สอดคล้องกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนการดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย รวมถึงการขยายโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมด้านการศึกษา
ทั้งหมดนี้เป็นงานที่จะต้องร่วมกันดำเนินการอีกค่อนข้างหนักพอสมควร จึงขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงของทุกคนที่พิสูจน์ได้ในห้วงที่ผ่านมาจากการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เชื่อและมั่นใจได้ว่าในปีการศึกษา 2558 และต่อๆ ไปจะสามารถทำให้การศึกษามีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการดำเนินงาน ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ที่ร่วมประชุมอยู่ปลายทาง ที่ได้ร่วมมือกันสนับสนุนให้เกิดคุณภาพของการศึกษา มีความก้าวหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะบรรลุผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ เพื่อเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างยั่งยืนตลอดไป และเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ด้วย
* ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
4 ข้อพื้นฐาน 1 สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและภายในห้องเรียนต้องสะอาดและเป็นระเบียบ ผู้บริหาร 5 ข้อจัดทำ 1 ผู้บริหารสถานศึกษาต้องวางแผนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างจริงจังและอำนวยความสะดวกให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ครูนำ 6 ข้อปฏิบัติ 1 ครูต้องจัดสภาพห้องเรียนให้เหมาะสม เอื้อต่อการปฏิบัติกิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้ |
ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดการประชุมฯ รมช.ศึกษาธิการและคณะผู้บริหารและผู้เข้าร่วมประชุม ได้ร่วมพิธีถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลานหน้าห้องประชุม อาคาร 4
กุณฑิกา พัชรชานนท์ – บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
สถาพร ถาวรสุข : ถ่ายภาพ
15/5/2558