ปาฐกถาที่จุฬาฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน (CU Calibre: Shaping the Nation’s Future)” เมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คณะรัฐมนตรี, ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณาจารย์ และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมรับฟังการบรรยาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งของการปฏิรูปที่สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยได้จัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้กับประเทศตลอดระยะเวลา 101 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมาถึงช่วงระยะเปลี่ยนผ่านในสังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งอาจหมายถึงการเปลี่ยนจากสิ่งที่ดีให้เป็นสิ่งที่ดีขึ้น การเปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่ดีเป็นสิ่งดี หรือแม้แต่การเปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่ดีให้เป็นสิ่งที่ไม่ดียิ่งกว่าก็เป็นไปได้

ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเตรียมความพร้อม ตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ทันต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเรื่องบางอย่างก็ไม่มีสอนในตำราเรียน และการนำเรื่องของอดีตหรือประวัติศาสตร์มาช่วยให้ได้เรียนรู้เหตุการณ์ในวันข้างหน้าก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น

จึงคาดหวังให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น “เรือธง” นำเรือในขบวนผ่านพายุคลื่นลมไปสู่วันข้างหน้า ด้วยการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งนำ Big Data มาวิเคราะห์ เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพช่วยให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ในส่วนของคุณภาพการศึกษาภาพรวมของไทย ขณะนี้ถือว่าไม่เลวร้ายนัก แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ต้องหาทางแก้ไขต่อไป ที่สำคัญคือควรนำสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ มาพัฒนาปรับปรุงให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง และประเทศชาติ เป็นเป้าหมายหลัก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้ง 3 ส่วน ที่จะไปช่วยขับเคลื่อนประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมฝากให้สถาบันการศึกษาจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่จะทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจิตใจซื่อสัตย์ มีคุณธรรมและสติปัญญาในการดำเนินชีวิต มีหลักคิดแยกผิดแยกถูกได้ ไม่คิดตามเพื่อนหรือตามสังคมออนไลน์ พัฒนาประเทศชาติให้มั่นคงปลอดภัย ขจัดความขัดแย้ง พร้อมทั้งผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ สอนให้เด็กมีงานทำ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคมที่จะมีการแข่งขันมากขึ้น ตลอดจนสร้างภูมิต้านทานด้านต่าง ๆ ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ คิดเป็น เชื่อมโยงเป็น เรียนรู้จากภายนอก

ในขณะที่ครูอาจารย์ก็ต้องพร้อมเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ในห้องเรียนไปพร้อม ๆ กับผู้เรียน รวมทั้งปรับ Mindset ให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย และนำตัวเอง นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มที่

รัฐบาลได้มุ่งเน้นนโยบาย “Thailand 4.0″ ภายใต้การดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ตลอดจนแผนแม่บท และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเป็น “เรือธง” นำประเทศก้าวไปข้างหน้า ในยุคที่โลกกว้างขึ้นกว่าเดิม มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น แต่คนวัยทำงานลดลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จนจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การทำงานของภาครัฐจึงจำเป็นต้องระดมความคิดและพลังความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า และไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ เช่น ประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีกำลังคนที่มีทักษะในยุค 1.0 2.0 และ 3.0 กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ดังนั้น การพัฒนากำลังคนให้เป็นคนไทย 4.0 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง เพื่อช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และมองภาพไปถึงอนาคตข้างหน้าไกล ๆ เพื่อสร้างให้คนไทยมีความเข้มแข็ง อยู่ได้ด้วยตัวเอง มากกว่าการให้เงินสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ดังเช่นโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้บริหารลงไปรับฟังความเห็นและความต้องการของจากประชาชน เพื่อช่วยการพัฒนาในระดับพื้นที่ได้อย่างตรงจุด หรือการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจสู่รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะมีความร่วมมือระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งมีส่วนดีในการนำแนวคิดแบบตะวันตก คือ การคิดเร็ว มาผสานการทำงานแบบตะวันออก คือดำเนินการอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานว่า การดำเนินงานต่าง ๆ จะต้องวิเคราะห์ปัญหาและจัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำเสียก่อน จากนั้นจึงลงมือทำหรือหาวิธีการแก้ไขในแต่ละเรื่องตามขั้นตอน เพราะหากรอที่จะแก้ปัญหาพร้อมกันทั้งหมด คงเป็นไปได้ยาก อาทิ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านาน แม้จะมีกฎหมาย กฎกระทรวง หรือออกกฎต่าง ๆ อีกหลายฉบับ ก็ยังคงมีการทุจริต นั่นเพราะยังแก้ไม่ตรงจุด เรื่องนี้ต้องแก้ไขในเรื่องของจิตสำนึก ซึ่งสอนกันยากและต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังมีความจำเป็น เพื่อให้คนทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันเกิดความเท่าเทียมกัน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงการไปเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมการดูแลและบำบัดรักษาโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนายกรัฐมนตรีว่า ได้เยี่ยมชมความก้าวหน้าหลายด้าน อาทิ ภาวะสมองเสื่อม ภาวะเสื่อมระบบกระดูกและข้อ ภาวะเสื่อมของกระจกตา ระบบ Telemedicine สำหรับผู้ป่วยศูนย์หลอดเลือดสมอง ฯลฯ

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีและภาคภูมิใจในเกียรติยศศักดิ์ศรีของความเป็นแพทย์กับนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ที่กำลังจะจบการศึกษาว่า ขอให้เป็นแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ที่พร้อมจะออกไปทำงานเพื่อคนในสังคม ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง มีความเสียสละ มีจิตสาธารณะ และคำนึงถึงการตัดสินใจรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมพัฒนาต่อยอดการศึกษา สร้างเสริมประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมการป้องกันโรค การฟื้นฟู และปฏิรูประบบการสาธารณสุขใหม่ เพื่อให้การรักษาพยาบาลไม่เป็นภาระสำหรับผู้มีรายได้น้อยและโรงพยาบาล เมื่อนั้นสิ่งที่ดี ๆ ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวเราทุกคน

จากนั้นได้เยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานและนิทรรศการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ณ อาคารสยามสแควร์วัน ซึ่งมีพันธกิจหลักในการดำเนินงาน 4 ประการคือ การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม, การสร้างพื้นที่ตลาดนัดนวัตกรรม, การสร้างชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน คือ แนวคิดวิธีการสร้าง Entrpreneur จาก Innovator รูปแบบใหม่ผ่านสื่อวีดิทัศน์, ผลงานนวัตกรรมจากผู้ประกอบการ Start up และผลงานนวัตกรรมจากหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวฝากให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยขยายผลความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา และยกระดับการศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรมเพื่อประเทศชาติในวงกว้างได้มากขึ้น เพราะหากมีความร่วมมือกันอย่างชัดเจน รัฐบาลก็จะสามารถสนับสนุนได้อย่างตรงจุด และตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป.


“คาดหวังให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็น “เรือธง” ใน
การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม
นำ Big Data มาวิเคราะห์
ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ
สอดคล้องกับ
รัฐบาลที่ได้มุ่งเน้นนโยบาย “Thailand 4.0″
เพื่อเป็น “เรือธง” นำประเทศก้าวไปข้างหน้า
ในยุคที่โลกกว้างขึ้นกว่าเดิม
เพื่อ
ช่วยให้ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”


Written by อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร