
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และคณะกรรมการ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของสถานศึกษาเอกชน โดยมีความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อหาแนวทางสนับสนุนตามอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัย ความถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อดูแลทุกคนทุกฝ่ายอย่างดีที่สุด
ทั้งในส่วนของนักเรียนที่จะต้องกลับมาเรียนได้อย่างปลอดภัย ครู บุคลากร และสถานศึกษา มีแผนและแนวทางรองรับการเปิดภาคเรียน และได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนตามมาตรการเสริมสภาพคล่องในการบริหารจัดการการเรียนการสอน อาทิ มาตรการสินเชื่อเพื่อสวัสดิการ (เงินทุนเลี้ยงชีพ) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ โครงการ 5 ซึ่งขณะนี้อนุมัติให้สมาชิกครูเอกชนกู้แล้ว 1,200 คน จำนวน 108 ล้านบาท, มาตรการกู้ยืมและยืมเงินของกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ มีเงินทุนสำรองจำนวน 605 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปล่อยให้โรงเรียนกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป รวมทั้งการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกการเดินทางกลับมาในประเทศไทยของนักเรียนและครูโรงเรียนนานาชาติ และการจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สนับสนุนการเปิดภาคเรียนด้วย
“นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายให้กองทุนสงเคราะห์ เร่งจัดทำข้อมูลสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ทั้งหมด เพื่อแสดงสถานะและรายละเอียดให้ครูเอกชนเข้าถึงได้โดยง่าย พร้อมกับได้ติดตามนโยบายค่ารักษาพยาบาลครูเอกชน ที่เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาทแล้ว ให้เพิ่มสูงขึ้นอีกได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่เพียงพอกับค่ารักษาบางโรค และให้ครอบคลุมไปถึงบิดามารดาและทายาท รวมทั้งยังได้มอบ สช.รวบรวมและประสานสถาบันการเงิน เพื่อให้การช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไปด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้บรรเทาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
– เห็นชอบประกาศหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน การยืมเงิน กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ
ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. …. และร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยืมเงิน จากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในส่วนของการบริหารกิจการโรงเรียน พ.ศ. …. สำหรับการบริหารกิจการโรงเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
โดยเกณฑ์การพิจารณาให้กู้ยืมเงินหรือยืมเงิน โรงเรียนละไม่เกิน 500,000 บาท จากวงเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ได้รับจาก สช. หรือ สอศ. หลังหักค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้าง คงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินอุดหนุนที่ได้รับ สำหรับการกู้ยืมเงิน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 และปลอดดอกเบี้ยในส่วนของการยืมเงิน ผ่อนชำระคืนภายใน 1 ปี (12 งวด) โดยหัก ณ ที่จ่ายไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ได้รับในแต่ละเดือน พร้อมใช้บุคคลค้ำประกันจำนวน 2 คน และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารโรงเรียน
– เห็นชอบการจัดทำหลักฐานวัดและประเมินผลการศึกษาของโรงเรียนในระบบ
ที่ประชุมเห็นชอบระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วย การจัดทำหลักฐานเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการศึกษาของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. …. เพื่อให้การเก็บรักษาเอกสาร หลักฐาน ของโรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานตามแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ส่วนโรงเรียนในระบบประเภทอาชีวศึกษา ให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
โดยโรงเรียนในระบบ ประเภทนานาชาติ จะต้องจัดทำหลักฐานทั้งในส่วนที่สำนักงานกำหนดและที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเอง พร้อมตั้งนายทะเบียน เพื่อรับผิดชอบจัดทำแบบ “รายงานผู้สำเร็จการศึกษา” (รนช.) เพื่อรายงานให้ผู้อนุญาตทราบภายใน 30 วัน (นับตั้งแต่วันอนุมัติผลการจบหลักสูตร)
– แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการฯ
ที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ จำนวน 3 ราย ได้แก่
1) นางสุพัชรินทร์ ไพวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน
2) ว่าที่ร้อยตรีจราวุธ อำนักมณี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
3) นายประพันธ์ ทรรศนียากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรงเรียนเอกชนในระบบ
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
27/5/2563