ผลการประชุมองค์กรหลัก

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารฝ่ายการเมือง และผู้บริหารองค์กรหลัก เข้าร่วมประชุม

● นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพาราอย่างจริงจัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปว่าจากนี้ไปหน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมลงไปใน TOR รวมทั้งอนุญาตให้ซื้อยางจากองค์กร หรือบริษัทใดก็ได้ แต่ต้องเป็นการซื้อยางใหม่จากเกษตรกร ไม่ใช่ยางเก่าที่เก็บค้างไว้ และสามารถกำหนดไว้ใน TOR ได้โดยไม่ถือเป็นการล๊อคสเป็กแต่อย่างใด

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ประสานงานหลักในการตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้ยางพารา เช่น สร้างสนามกีฬา สนามเด็กเล่น ถนนในโรงเรียน เป็นต้น และรายงานให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบภายในสัปดาห์หน้า


● นโยบายการติดตั้ง Solar Cell

กระทรวงศึกษาธิการได้รับการประสานงานจาก นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยินดีสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ พื้นที่สูง โรงเรียนชายแดน โรงเรียนชายขอบ หรือบนเกาะต่าง ๆ ที่ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้

ที่ประชุมจึงมอบหมายให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำรวจข้อมูลสถานศึกษาที่ยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ให้ชัดเจน แล้วส่งให้กระทรวงพลังงานอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา นำนักศึกษาไปฝึกการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ตลอดจนช่วยสอนประชาชน นักเรียนในพื้นที่ ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและการบำรุงรักษาด้วย


● สรุปภาพรวมแผนพัฒนาด้านการศึกษา 6 ภาค

นายอํานาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ สรุปภาพรวมการจัดทำแผนพัฒนาด้านการศึกษาระดับภาค ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยมีทิศทางการพัฒนาภาคให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ได้แก่

1. ภาคเหนือ “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง”
– ศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นวัตกรรม เกษตรและอาหารสุขภาพ
– ศูนย์กลางธุรกิจข้าว ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
– การค้าการบริการสี่แยกอินโดจีน ประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน+3

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “หลุดพ้นจากความยากจนสู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง”
– ศูนย์กลางข้าวหอมมะลิโลก ปศุสัตว์ เมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหาร
– ศูนย์กลางการค้าอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประตูสู่อาเซียนตะวันออกและจีน
– แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อารยธรรมขอม ศูนย์กลางกีฬานานาชาติ

3. ภาคกลาง “ฐานผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง”
– ศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมสีเขียว ประตูสู่อาเซียน
– เมืองนวัตกรรมอาหาร ศูนย์กลางสินค้าเกษตร ศูนย์กลางประมงแปรรูป
– ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ

4. ภาคตะวันออก “ฐานเศรษฐกิจชั้นนำ”
– ฐานเศรษฐกิจการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสนับสนุนให้ประเทศเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
– อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสะอาด และศูนย์กลางผลไม้ออแกนิค การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

5. ภาคใต้ “ฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย”
– ศูนย์กลางการท่องเที่ยวคุณภาพระดับโลก
– ศูนย์กลางการค้ายางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้

6. ภาคใต้ชายแดน “พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง”
– Food Innopolis ฐานอุตสาหกรรมเกษตรภาคใต้ ประตูสู่อาเซียนตอนใต้

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการสามารถกำหนดแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นหรือภาคเอกชน ในลักษณะ Value Chain เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายหลักของรัฐบาลใน 2 มิติ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับประเทศสู่ Thailand 4.0 ตลอดจนได้รับงบประมาณสำหรับขับเคลื่อนโครงการ กิจกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการ และสามารถรายงานผลให้รัฐบาลรับทราบ


บทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในมติชน วันที่ 20 ก.พ.2561


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2561 ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้กำชับให้ส่วนราชการ สถานศึกษา ทุกสังกัด กวดขันและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยตลอดช่วงวันหยุดยาว ขณะที่ทาง สอศ. พร้อมจะจัดศูนย์บริการ Fix It Center เพื่อให้บริการประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ด้วย


Written ปารัชญ์ ไชยเวช, อรพรรณ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit กิตติกร แซ่หมู่, ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
28/2/2561