ผลประชุมสภาการศึกษา

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกันพร้อมการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปและความก้าวหน้างานในหลายส่วน โดยเฉพาะการพิจารณาเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อเสนอการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา เพื่อให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา และให้รับข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นนำไปปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 9 คณะ ดังนี้

  • คณะอนุกรรมการด้านนโยบายการศึกษาและกลไกการขับเคลื่อนแผนสู่ปฏิบัติ ได้มีการประชุมพิจารณาความเชื่อมโยงของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กับแผนขององค์กรหลักและสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมจะศึกษาวิเคราะห์ และติดตามการจัดการศึกษาเพื่อการมีอาชีพรองรับนโยบาย THAILAND 4.0 ตลอดจนเตรียมตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกจังหวัดได้อย่างเหมาะสม

  • คณะอนุกรรมการด้านระบบฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ได้มีการประชุมหารือถึงการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากหน่วยการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบคลังข้อมูลและระบบรายงานสารสนเทศสำหรับการประเมินผลการจัดการศึกษา ภายใต้กรอบตัวชี้วัดตามแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.2560-2579 ตลอดจนการวิเคราะห์แนวโน้มสภาวการณ์การศึกษา และการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการสาขาอาชีพจำเป็นในตลาดแรงงานไทยและสากล ทั้งนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดระดับนานาชาติ ในโครงการ World Education Indicators ของยูเนสโก สำหรับใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกด้วย

  • คณะอนุกรรมการด้านระบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา ได้มีการหารือถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเสนอให้มีการรวบรวมและศึกษาข้อมูล งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สรุปเป็นกรอบในการดำเนินงาน อาทิ งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ทรัพยากรเพื่อการศึกษา การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษา มาตรฐานการศึกษาชาติ เป็นต้น ที่จะช่วยปรับระบบจัดสรรงบประมาณผ่านตัวผู้เรียนและเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้น ส่งเสริมให้สถานศึกษาเกิดการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพ พร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมระดมทุนเพื่อการศึกษา นอกจากนี้ ได้นำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) มาใช้วิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งสถานศึกษาที่มีความพร้อมเป็นโรงเรียนศูนย์กลางให้กับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยคำนึงถึงการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะช่วยให้รัฐนำงบประมาณไปพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนได้มากขึ้น

  • คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างมาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. …. พร้อมกำหนดมาตรฐานในแต่ละระดับการศึกษาว่าต้องรู้และสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desires Outcomes of Education: DOE) คือคุณลักษณะของคนไทยสำหรับประเทศไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมีคุณลักษณะบุคคลผู้เรียนรู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และผู้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งมีคุณธรรม มีทักษะการเรียนรู้และชีวิต ทักษะทางปัญญา ความรู้ ตลอดจนธำรงความเป็นไทย และแข่งขันได้ในเวทีโลก ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างมาตรฐานการศึกษาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

  • คณะอนุกรรมการด้านการประเมินผลการศึกษา ได้ประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา ทั้งในแนวทางที่ยังเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการและเป็นหน่วยงานภายนอก พร้อมให้เร่งจัดทำกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 62 ที่ให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการศึกษา แนวการจัดการศึกษา และคุณภาพมาตรฐานการศึกษา โดยหน่วยงานภายในและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบภายนอก

  • คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายการศึกษา ได้พิจารณาทบทวนกฎกระทรวงตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จำนวน 6 ฉบับ ตลอดจนศึกษาและสังเคราะห์ข้อมูลกฎกระทรวงที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน จำนวน 2 ฉบับ

  • คณะอนุกรรมการด้านการวิจัยการศึกษา ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดเป้าหมายและขอบเขตการดำเนินงานด้านการวิจัย ซึ่งมีความเห็นพ้องกันที่จะให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำงานวิจัยเพื่อหาแนวทางนำนโยบายสู่การปฏิบัติและประเด็นปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน ตลอดจนเสนอให้มีการวิจัยที่ตอบสนองต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ โดยอาจจะทบทวนและจัดทำวิจัยเอกสารจากผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว ในประเด็นการศึกษาที่สำคัญ อาทิ การกระจายอำนาจ การนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติ การเรียนการสอน การผลิตครู รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น

  • คณะอนุกรรมการด้านบทบาทของภาคประชาสังคมเพื่อการศึกษา เตรียมที่จะจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การศึกษาทางเลือก, บ้านเรียน (Home School) ซึ่งจัดการโดยครอบครัวหรือกลุ่มของครอบครัว, การศึกษาชนเผ่า, ท้องถิ่นเพื่อการศึกษา, การศึกษาเพื่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส, การศึกษาเอกชน และการศึกษาสำหรับพระภิกษุและสามเณร

  • คณะด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬาและภูมิปัญญา ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวคิดการบูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬาและภูมิปัญญา สู่หลักสูตรการเรียนการสอนในกรอบภารกิจทั้ง 5 ด้าน พร้อมการเตรียมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษา เพื่อนำหลักสูตรสู่ห้องเรียนในสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่จะเป็นการสร้างมาตรฐานเด็กไทยที่มีคุณภาพทั้งเรียนเก่งและเป็นคนดีในอนาคต


Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร