ผลประชุมองค์กรหลัก

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เมื่อวันอังคาร ที่ 11 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมวชิราวุธ โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้บริหาร 5 องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมประชุม

นายชลำ อรรถธรรม โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมในครั้งนี้ มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1) การนำกีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากขึ้น

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม รวมทั้ง พลอ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้มีข้อแนะนำในการนำ “กีฬาเข้าสู่ระบบการศึกษา” ให้มากขึ้น นอกเหนือไปจากโครงการที่ได้ดำเนินการในเวลานี้ คือ โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการห้องเรียนกีฬา เพื่อให้เป็นแนวทางดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายการกีฬาแห่งชาติของรัฐบาล

พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีความเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในระดับผู้บริหารสถาบันการพลศึกษา 18 แห่ง กับผู้บริหารของสถานศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องหลักสูตรและสาระการเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอน, บุคลากร, การบูรณาการงบประมาณและตัวชี้วัดร่วมกัน, การเปิดใช้พื้นที่หรือโรงยิมเนเซียมในสถานศึกษา เพื่อให้นักกีฬาใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมอย่างทั่วถึง ตลอดจนความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาสนามกีฬาและโรงยิมฯ ให้บริการแก่ประชาชน หรือเชื่อมโยงข้อมูลการดูแลนักเรียนกีฬากับโรงพยาบาลค่ายหรือหน่วยเวชศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้การดำเนินงานด้านกีฬามีความสอดคล้องเชื่อมโยง และนำไปสู่ความสำเร็จด้านการกีฬาของชาติได้ในที่สุด

ที่ประชุมมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมการทำงานและร่วมเป็นคณะทำงานกับ กก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในเบื้องต้นนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. แจ้งต่อที่ประชุมว่า สพฐ.จะดำเนินการพัฒนาผู้เรียนด้านกีฬา เริ่มต้นตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

2) เห็นชอบให้นำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครบ 6 ภาค

นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาด้วยว่า ควรมีการขยายผลเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.. …. ที่ต้องการพัฒนาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีอิสระในการบริหารจัดการและการบูรณาการการทำงานในเขตพื้นที่มากขึ้น ทั้งความร่วมมือจากภาคประชาสังคม เศรษฐกิจ ชุมชน ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดมีความอิสระในการบริหารจัดการตัวเอง และยกระดับคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนบนความหลากหลายของพื้นที่

ขณะนี้มีการนำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แล้วใน 3 จังหวัด คือ ภาคใต้ ที่สตูล, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศรีสะเกษ และภาคตะวันออก ที่ระยอง ซึ่งที่ประชุมองค์กรหลักเห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการนำร่องเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิเศษให้ครอบคลุมทั้ง 6 ภาค ๆ ละ 1 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มภาคเหนือ ที่เชียงใหม่, ภาคกลาง ที่กาญจนบุรี และภาคใต้ชายแดน ที่ปัตตานี



Written by บัลลังก์ โรหิตเสถียร
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter/Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร