ผลประชุมองค์กรหลัก

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 38/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2560 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแนะนำ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ คนใหม่ โดยมอบหมายภารกิจหลักเป็นงานด้านการอุดมศึกษา และงานของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.

จากนั้นได้กล่าวถึงผลประชุมคณะรัฐมนตรี และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

  • ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการแต่งตั้ง นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็น โฆษก ศธ.  โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้โฆษกกระทรวงต้องมีความฉับไวต่อการให้ข้อมูล แถลงข่าวด้วยความกระชับ ชัดเจน สอดรับกับแนวทางของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการทำงานด้านประชาสัมพันธ์ แนะนำให้เน้นการคิดใหม่ การเผยแพร่ผ่านสื่อ Social Media  เป็นหลัก เน้นการตอบที่สั้น และรวดเร็ว

  • องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่เคยปักธงแดงให้กับประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีขอให้ตรวจสอบควบคุมหลักสูตรการบินทั้งหลายในประเทศให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับข้อบังคับระหว่างประเทศที่จำเป็นด้านความปลอดภัย และสอดคล้องกับ ICAO โดยที่ประชุมองค์กรหลักได้มอบหมายให้ นพอุดม คชินทร และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ติดตามดูแลเรื่องนี้

  • การเสนอโครงการของทุกกระทรวงจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตอบคำถามได้ว่าประชาชนได้อะไร โดยไม่ควรเป็นโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการผูกพันที่ยาวนานเกินไป ยกเว้นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนการของบกลาง ควรใช้หลักการเติมเต็มช่องว่างเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับนโยบายการลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเชื่อมโยงเพื่อความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนมุ่งเน้นผู้มีรายได้น้อย

  • การจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  เน้นให้จัดหลักสูตรระยะสั้นควบคู่กับการศึกษาในระบบหลัก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จัดการศึกษาให้มีความทันสมัย เด็กและครูมีความสามารถในการแข่งขัน ใช้ประโยชน์จาก IT ให้มากขึ้น และเน้นให้เกิดความร่วมมือกับภาคธุรกิจหรือเอกชนมากขึ้น

  • โครงการ Big Data   ซึ่งรัฐบาลให้เวลาดำเนินการ 3 เดือน ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 1 เดือน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เพื่อรวบรวมข้อมูลของแต่ละส่วนราชการเพื่อเชื่อมโยงกันให้ได้

  • ให้ทุกกระทรวงสอดส่องดูแลข้าราชการทุกระดับ ทุกพื้นที่  ให้เน้นการทำงานเต็มที่ หากเกิดเกียร์ว่าง ให้พิจารณาปรับย้ายตามความเหมาะสม

  • ขอให้ขับเคลื่อนคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)  ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพัฒนา บูรณาการการศึกษาภายในจังหวัด ประเมินการศึกษาของสถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัด และร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.)
       ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือการทำงานของ กศจ. ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ในการปรับแก้คำสั่ง คสช. ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ลดความขัดแย้งกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยอาจจะมีการพิจารณาตั้ง 2 คณะกรรมการ คือ 1) คณะกรรมการด้านการบริหาร กำกับ และบูรณาการ 2) คณะกรรมการด้านการบริหารบุคคล ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ส่วนการทำงานของศึกษาธิการภาคนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้หารือกับ รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) แล้ว เห็นควรให้คงไว้ 6 ภาค โดยให้รอง ศธภ. ที่มีอยู่ ดำรงตำแหน่งรอง ศธภ. และให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค เพื่อสามารถขับเคลื่อนงานไปได้พร้อมกัน

  • ปัจจุบันประเทศไทยใช้ครูปีละประมาณ 20,000 คน แต่มีการผลิตครูปีละ 40,000 คน หากลดการผลิตลงเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มคุณภาพต่อหัวได้ รมว.ศึกษาธิการ จึงได้มอบหมาย รมช.ศึกษาธิการ (นพ.อุดม คชินทร) และ สกอ. กำกับดูแลหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาครู ได้มอบหมายให้ กศจ. กำกับติดตามข้าราชการครูภายในจังหวัดว่ามีความต้องการอย่างไร และขาดแคลนเรื่องใด

  • ขอให้ทุกโรงเรียนมี Hi-Speed Internet ใช้งาน และสอนเรื่อง Active Learning ความมีวินัย มีจิตอาสา ดำเนินตามพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร เช่น การยกระดับมหาวิทยาลัยราชภัฎให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ตลอดจนนำเอาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษา เข้ามาร่วมมือด้วย

  • ให้ทุกกระทรวงมีคณะทำงานพิเศษ ที่สำนักงานปลัดกระทรวง  เพื่อเชื่อมโยงกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ในสวนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) เป็นประธานคณะทำงานพิเศษ โดยมีรองเลขาธิการจาก สกอ. สอศ. สพฐ. เป็นเลขานุการ

  • ของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน  ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น รมว.ศึกษาธิการ ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันคิดโดยเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดหลักสูตรระยะสั้นของหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชน จัดทำเว็บไซต์ติวฟรีดอทคอมให้นักเรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ โครงการ Fix-It Center ควบคู่การให้ความรู้ประชาชน เป็นต้น

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งเรื่องให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้

  • มติที่ประชุม ครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ. สงขลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 ได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561-2564 และเห็นชอบโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการใน 5 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2561-2565) เริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2569 พร้อมทั้งอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2569 สำหรับการให้ทุนการศึกษา 2,519 คน วงเงิน 570.8905 ล้านบาท

  • นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) จัดทำโครงการที่เป็นลักษณะโรงเรียนประจำ  เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัวผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลขั้นต้นร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยตั้งเป้าว่า 1 อำเภอ ให้มีโรงเรียนประจำระดับประถมศึกษา 1 โรงเรียน และระดับมัธยมศึกษา 1 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 41 อำเภอ ในส่วนของอาชีวศึกษา เบื้องต้นจะจัดโครงการในระดับ ปวช. ทั้งนี้จะใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการให้ครอบคลุมก่อน คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นโครงการนี้ภายในปีการศึกษา 2561 และถือเป็นของขวัญปีใหม่จาก ศธ. (ส่วนหน้า) ด้วย

  • กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียน นักศึกษา อายุไม่เกิน 18 ปี จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงศึกษาธิกา รครั้งที่ 1 หรือที่เรียกว่า “MOE CUP” ชิงถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีการพัฒนาทักษะกีฬา เสริมสร้างประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขัน การออกกำลังกาย และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างแรงจูงใจให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีการพัฒนาตนเองสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต กิจกรรมกีฬาฟุตบอล เป็นสื่อกลางในการสร้างความรัก ความสามัคคี การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้กติกา มารยาท ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของเยาวชน รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการออกกำลังกาย ห่างไกล ยาเสพติดและอบายมุข ซึ่งนับว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ที่เคยจัด เนื่องจากมีทีมเข้าร่วมชิงชัยถึง 200 ทีม และจะทำการแข่งขันพร้อมกันทั้ง 5 จชต. ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2560 – 15 มกราคม 2561 โดยทุกจังหวัดมีการเปิดการแข่งขันในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2560 นับว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่งเนื่องจากวันดังกล่าวเป็น “วันกีฬาแห่งชาติ”

  • การจัดทำแผนบูรณาการการศึกษาระดับภาค  ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 11 จังหวัด และจะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานระดับภาคให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวฝากนโยบายจากนายกรัฐมนตรี 3 ข้อ ดังนี้

  • ขอให้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติให้เกิดความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

  • ขอให้ช่วยกันสอดส่อง ดูแล การป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

  • ให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างกระทรวง ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดการ Hi-Speed Internet ดังนี้

  • จัดการแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของระบบและผู้ให้บริการ Hi-Speed Internet เพื่อลดค่าใช้จ่าย

  • เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Hi-Speed Internet ให้มีความเสถียรในการใช้งานทุกพื้นที่

  • ควรจัดตั้ง Call Center เพื่อดูแล ให้ข้อมูล แก้ปัญหาเกี่ยวกับ Hi-Speed Internet แก่โรงเรียนทั่วประเทศ

  • ด้านปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ สพฐ.รายงานว่าเกิดความเสียหายใน 11 จังหวัด 27 เขตพื้นที่การศึกษา มีโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย 1,258 โรงเรียน นักเรียนได้รับผลกระทบกว่า 40,000 คน และมีการหยุดการเรียนการสอน 712 โรงเรียน ขณะนี้ สพฐ.ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว และ สอศ. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ Fix It Center เพื่อให้บริการประชาชน เช่น ขนย้ายสิ่งของแล้วกว่า 20 จุด

  • การช่วยเหลือครูในพื้นที่ทุรกันดารหรือพื้นที่ยากลำบาก ตามข้อกำหนดกระทรวงการคลัง ได้แก่ พื้นที่การคมนาคมลำบาก พื้นที่ขาดแคลนสาธารณูปโภค พื้นที่ขาดแคลนการดำรงชีพ พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่มีโรคภัยไข้เจ็บ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานสำรวจรายชื่อครูทุกสังกัด เบื้องต้นพบครูจำนวน 9,110 คนที่เข้าเกณฑ์วิกฤติรุนแรง ทั้งนี้ จะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาสนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวน 2,500 บาทต่อคน


ปารัชญ์ ไชยเวช: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง
ธเนศ งานสถิร, อิทธิพล รุ่งก่อน และหลาย ๆ คน: ถ่ายภาพ
5/12/2560
รายงานโดย : MOE Digital Team สป.-สร.