ผลประชุมองค์กรหลัก

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมประชุม อาทิ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารฝ่ายการเมือง, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ฯลฯ โดยมีประเด็นสำคัญโดยสรุป ดังนี้

● เตรียมขยาย “ห้องเรียนดนตรี” ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศในปีการศึกษา 2561

นายพะโยม ชิณวงศ์ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบผลการดำเนินงานโครงการห้องเรียนกีฬา ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และโรงเรียนในภูมิภาค ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านดนตรี ศิลปะ และอื่น ๆ ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงต้องการให้มีการขยายผลโครงการ “ห้องเรียนดนตรี” ในทุกภาค โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีวิทยาลัยดนตรีในสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นด้านวงโยธวาทิต, Modern Band, การขับร้องประสานเสียง ดนตรีไทย หรืออื่น ๆ คาดว่าปีการศึกษา 2561 จะเริ่มขยายโครงการห้องเรียนดนตรีไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ โดยใช้โมเดลของโรงเรียนกีฬาเป็นต้นแบบ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ รมช.ศึกษาธิการ (พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นผู้กำกับดูแล


ศธ.พร้อมขับเคลื่อนโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ของรัฐบาล

รัฐบาลได้จัดทำ “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นทีมงานหลัก จะดำเนินการลงพื้นที่ขับเคลื่อนทุกระดับตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนรายครัวเรือน รายบุคคล  ค้นหาความต้องการของประชาชนและชุมชน เพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ สร้างการรับรู้ ปรับแนวคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

ทั้งนี้ ศธ.จะมุ่งเน้นการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวง เช่น โครงการห้องเรียนกีฬา ห้องเรียนดนตรี โครงการส่งเสริมภาษาอังกฤษ โครงการ Hi-Speed Internet คูปองครู สิทธิการเรียนฟรี Fix-It Centerเป็นต้น โดยมอบปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นายการุณ สกุลประดิษฐ์) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก


การพิจารณาเสนอรวม “หว้ากอ-ท้องฟ้าจำลอง”

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ขอพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ไปกำกับดูแล เพื่อพัฒนางานด้านดาราศาสตร์ของประเทศเข้าด้วยกันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลัง ซึ่ง ศธ.ยินดีมอบให้ ส่วนรายละเอียดการจัดสรรบุคลากรนั้นยังไม่ได้มีการหารือกัน เนื่องจากต้องพิจารณากฎหมายประกอบ หากสามารถโอนได้ ศธ. ก็ยินดีดำเนินการ


ความคืบหน้าอาชีวะ-อุดมศึกษาพันธุ์ใหม่

นายพะโยม ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาพันธุ์ใหม่ ขณะนี้ สกอ.อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลว่าสาขาใดควรผลิตลดลง ยกเลิก หรือเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยที่ผ่านมา รมช.ศึกษาธิการ (นพ.อุดม คชินทร) ได้หารือร่วมกับตัวแทนมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้มหาวิทยาลัยพยายามทำหลักสูตรสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมหลักให้ทันภายในปีการศึกษา 2561

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมหลัก คือ การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย 1)  อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive) 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy) 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย 1)  อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

ที่ประชุมเห็นว่า หากรอบัณฑิตใหม่อีก 4 ปี อาจจะไม่ทันความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงต้องพิจารณาว่าสาขาใดที่มีความต้องการเร่งด่วนภายใน 1-2 ปี ต้องผลิตบัณฑิตให้ได้ เช่น ช่างอากาศยาน วิศวกรระบบราง วิศวกรแมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งอาจใช้แนวทางดังนี้

  • ดึงผู้ที่มีประสบการณ์หรือทำงานอยู่แล้วเข้ามาในหลักสูตร โดยนำความสามารถและประสบการณ์ทำงานมาเทียบ จากนั้นทางมหาวิทยาลัยจะจัดหลักสูตรเพิ่มทักษะหรือวิชาการให้เป็นหลักสูตร 1 ปี แล้วมอบประกาศนียบัตรรับรอง หรืออาจจะจัดหลักสูตร 2 ปี เมื่อจบแล้วได้รับปริญญาตรี เป็นต้น

  • ให้โอกาสผู้ที่เรียนจบระดับ ปวส. มาเรียนต่อในหลักสูตร 2 ปี หรือนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ในระบบปกติ สามารถเปลี่ยนมาเรียนหลักสูตรเหล่านี้ได้ทันที

จากแนวทางดังกล่าว คาดว่าจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้เร็วยิ่งขึ้น ขณะที่การพัฒนาหลักสูตรนั้นจะเชิญภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรด้วย โดยใช้ความต้องการของสาขาวิชาเป็นตัวตั้ง แล้วเปิดให้ทุกมหาวิทยาลัยเข้ามาแข่งขันกัน ซึ่ง สกอ.จะมีเงื่อนไขการพิจารณาอย่างเข้มข้น หากมหาวิทยาลัยใดทำได้ตามที่ สกอ.กำหนด จะได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยมีเงินที่รัฐบาลสนับสนุนให้ด้วย


● ความช่วยเหลือน้ำท่วม รร.เอกชน

นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและโฆษก ศธ. กล่าวด้วยว่า เรื่องความช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมโรงเรียนเอกชนนั้น ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้การช่วยเหลือแล้ว แต่สาเหตุที่มีความล่าช้านั้น เนื่องจากขั้นตอนของโรงเรียนเอกชนจะแตกต่างจากโรงเรียนของ สพฐ. คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติความช่วยเหลือแล้ว จะต้องดำเนินการของบประมาณจากสำนักงบประมาณ จากนั้นจะต้องนำกลับมาผ่านมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้โรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ในอนาคต ศธ.จะพยายามหาวิธีลดขั้นตอน เพื่อให้โรงเรียนเอกชนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว


ปารัชญ์ ไชยเวช: สรุป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: เรียบเรียง
กิตติกร แซ่หมู่: ถ่ายภาพ
31/1/2561