ผลประชุมองค์กรหลัก
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 35/2560 เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่พิเศษ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการประชุมสัมมนา “มิติการศึกษา พัฒนาพื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อทบทวนการจัดทำแผนบูรณาการจัดการศึกษาและการขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติในพื้นที่พิเศษ ซึ่งหมายถึง 1) พื้นที่จังหวัดชายแดน 2) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ 4) เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 5) พื้นที่พิเศษภาคตะวันออก
สำหรับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC TVET Career Center) ทั้งศูนย์ระดับภาค 1 ศูนย์ และศูนย์ระดับจังหวัด
ทั้งนี้ การผลิตและพัฒนากำลังคนทั้ง 6 ภาค กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ที่ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดย
-
ภาคเหนือ เน้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง
-
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการพัฒนาให้หลุดพ้นจากความยากจนสู่เป้าหมายการพึ่งตนเอง
-
ภาคกลาง และภาคตะวันออก เน้นการเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ
-
ภาคใต้ตอนบน เน้นฐานการสร้างรายได้ที่หลากหลาย
-
จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคง
ในที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ซึ่งขณะนี้มีความสับสนเรื่องการแบ่งภาคของการศึกษา ที่แบ่งเป็นเขตตรวจราชการ 18 ภาค กับ 6 ภาคพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งที่ความจริงแล้วสอดคล้องกัน จะมีเพียงบางส่วนที่เหลื่อมอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะเป็นปัญหา
อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และผู้แทนองค์กรหลัก ในระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคมนี้ ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดทำแผนบูรณาการในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนระดับภาค โดยจะนำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี เป็นกรอบในการดำเนินการที่บูรณาการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ นอกจากการพัฒนาระดับภาคแล้ว ยังมีความเป็น 76 จังหวัด และกรุงเทพฯ ที่จะมีความหลากหลายในการพัฒนาอีกด้วย ซึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับ ศธจ. เพราะขณะนี้ยังคงมีอัตรากำลังคนไม่ครบตามกรอบ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
4/10/2560