ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ New S-Curve

กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเวทีรับฟังแนวคิดภาคเอกชน-สภาอุตสาหกรรม-สภาหอการค้าไทย เพื่อเริ่มต้นโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ รองรับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ก่อนที่จะให้มหาวิทยาลัยไปออกแบบหลักสูตรแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อให้หลักสูตรใหม่ที่รองรับ New S-Curve เริ่มใช้ได้ในช่วงเปิดเทอมเดือนสิงหาคมนี้

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุม ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,  ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชน ประธานสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เพื่อพิจารณารูปแบบการดำเนินงานตามโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย

นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า จากการที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งในการขับเคลื่อนเห็นว่าจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ปรับเป้าหมายการรับผู้เรียนใหม่ ทั้งนักเรียนนักศึกษา คนทำงาน ด้วยหลักสูตรหลากหลายทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว โดยที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งต้องสร้างจุดเด่นจุดขายในการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น

การประชุมหารือในวันนี้ จึงเป็นการรับฟังแนวคิดของตัวแทนสถานประกอบการ สถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ THAILAND 4.0 และเป็นการสร้างฐานการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิต ที่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต สถานประกอบการ หรือภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาร่วมมือกันและความร่วมมือกับภาคประกอบการ ในการเปิดหลักสูตรใหม่ที่รองรับ New S-Curve ได้ทันภายในช่วงเปิดภาคเรียนเดือนสิงหาคม 2561 ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะส่งผลให้มีจำนวนบัณฑิตพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นปีละ 2 ล้านคน และกำลังคนทุกช่วงอายุของประเทศกว่า 20 ล้านคน หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของกำลังคนที่ทำงานอยู่แล้ว ได้มีทักษะ สมรรถนะ ศักยภาพสูง สามารถทำงานได้หลากหลาย เป็นการตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยสู่ New S-Curve เป็นการเร่งด่วนได้

“ต้องการให้หลักสูตรใหม่ที่รองรับ New S-Curve เริ่มใช้ได้ในเทอมแรกของปีการศึกษา 2561 โดยจะเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมก่อน และวันจันทร์นี้ (19 ก.พ.) เวลา 13.30 น. จะนัดมหาวิทยาลัยมาชี้แจงรายละเอียดก่อน แล้วจึงให้แต่ละแห่งไปออกแบบหลักสูตรแบบบูรณาการ โดยร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกัน และร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย เพราะเชื่อว่าไม่มีมหาวิทยาลัยเดียวในเวลานี้ที่ดูแลเองได้ โดยมหาวิทยาลัยที่ปรับกระบวนการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ได้จริง ๆ ก็จะรวบรวมเป็น Bundle เพื่อเสนอของบประมาณไปยัง ครม.ต่อไป แม้ Timeline ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาอันจำกัด แต่หากได้เริ่มต้นก็จะเป็นอนาคตของประเทศ หากเราช่วยกันจริงๆ อีกทั้งเราจำเป็นต้องลงทุนการศึกษาให้มากกว่านี้ เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ได้ทุ่มงบฯ ลงไปกับการอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ทำให้ GDP ของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย” นพ.อุดม กล่าว

 

ตัวแทนหัวเหว่ย “หลักสูตรใหม่ในการผลิต อยากให้ภาครัฐบอกตัวบ่งชี้ (Indicator) ของบัณฑิตแต่ละรายที่ผลิตออกมาว่ามีความพร้อมใช้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อภาคเอกชนจะได้ประโยชน์ในการสรรหารับเข้าทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาไปพัฒนาเพิ่มเติมกว่าจะทำงานได้เป็นปีๆ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งหากภาครัฐทำได้จริง ภาคเอกชนพร้อมจะร่วมมือ”

ตัวแทนบริษัทด้าน IT Solution “ประเทศไทยขาดแคลน Resource ด้านนี้มาร่วม 10 ปี โดยเฉพาะด้าน Software Development รวมทั้งอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ ซึ่งหัวใจของของรถไฟฟ้าอยู่ที่แบตเตอรี่ หรือ Storage ไม่ใช่ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมตัวผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในด้านนี้ และคำนึงถึง Open Technology ด้วย”

นายวีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “ต้องการให้การทำงานนี้เกิดความยั่งยืน เพราะเป็นความจำเป็นของประเทศ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และไม่ใช่เป็นโครงการที่ภาครัฐจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เพราะรัฐไม่ได้คิดคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนต้องช่วยกันคิด เห็นพ้องต้องกัน เป็น Partner กันในการผลิตกำลังคน หากโครงการนี้ล้มเหลว ประเทศไทยจะไม่มีอนาคตเลย เพราะการคิดครั้งนี้ถือว่าทำนอกกรอบมากที่สุดแล้ว ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยใดเสนอรูปแบบอะไรก็ตามมาแล้ว สกอ.จะมีทีมกลั่นกรองรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อรวบรวมนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ และขับเคลื่อนโดยเร่งด่วนต่อไป”

 


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป
ปชส.สกอ.: ถ่ายภาพ
16/2/2561