ผลิตพัฒนากำลังคนรองรับ EEC

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. ประชุมหารือกับ ดร.คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงมหาวิทยาลัยนอกเขต EEC เข้ามาช่วยผลิตพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดย ม.มหิดล-บูรพา จะร่วมฝึกอบรมระยะสั้น และส่งเสริม Technical English ให้กับกำลังคนในแต่ละสาขาอาชีพ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม​ 2562 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ, ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ เป็นประธานการประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี ดร.คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รักษา​การแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้แทนสำนักงาน​คณะกรรมการ​การอุดมศึกษา​ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมประชุม

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขต EEC เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ได้เห็นทิศทางในการเข้ามาช่วยมหาวิทยาลัยในพื้นที่ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม และลดข้อจำกัดด้านต่าง ๆ โดยมีแนวทางนำผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งที่จบการศึกษาในระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี มารับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะหลักสูตรระยะสั้น เป็นเวลา 6 เดือน-1 ปี เพื่อมาเรียนรู้ทักษะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เมื่อจบหลักสูตรแล้วได้รับใบประกาศ

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะส่งเสริม Technical English ให้กับกำลังคนในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในวิชาชีพ และสอบใบรับรองวิชาชีพด้านช่างต่าง ๆ ในระดับสากลได้ ทำให้ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย

ดร.คณิต แสงสุพรรณ กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจกำลังคนในพื้นที่ EEC พบว่า ยังขาดแคลนกำลังคนและช่างที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์​ กว่า 50,000 คน ในขณะที่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ผลิตกำลังคนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จำนวนมาก จึงเกิดความไม่สมดุลกัน ดังนั้น แนวคิดการร่วมจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา​ ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม​เป้าหมาย​หลักของประเทศ First S-curve และ New S-curve จึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล อาจจะจัดการฝึกอบรมทักษะและสมรรถนะในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับมหาวิทยาลัย​บูรพา​ ในฐานะมหาวิทยาลัยแม่ข่ายภาคตะวันออก พร้อมทั้งส่งเสริมให้หารือกับนักลงทุนและสถานประกอบการโดยตรง ถึงคุณลักษณะและสมรรถนะกำลังคนที่สถานประกอบการ​ต้องการ เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ จบการศึกษาแล้วสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความเจริญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ​ภาค​ตะวันออก​

ศ.คลินิก นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีความยินดีที่จะร่วมมือด้านการศึกษา เพื่อสนับสนุนความต้องการด้านกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรม​ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยมีแนวทางที่จะบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย​บูรพา​ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา​ในเขตพัฒนาพิเศษ​ภาคตะวันออก​ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดหลักสูตรการเรียนการสอนระยะสั้นอยู่แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนในพื้นที่เขตพัฒนา​พิเศษ​ภาค​ตะวันออก​ต่อไป

Written by อรพรรณ​ ฤทธิ์มั่น
Photo Credit
ทิพย์สุดา​ ศรีษะแก้ว, อิทธิพล​ รุ่ง​ก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร