ผู้่นำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบแนวทางในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาบทบาทของผู้นำในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ โดยเน้นทุกภาคส่วนน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด รวมทั้งพระบรมราโชบายด้านการศึกษาที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน นำมาเป็นหลักในการทำงานด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างประโยชน์ สร้างภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการจัดการประชุมสัมมนาบทบาทของผู้นำในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องทั้ง 6 แห่ง ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างกลไกการบริหารการจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในอนาคตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้นี้ โดยได้ดำเนินงานในลักษณะคู่ขนานในหลายส่วน อาทิ การประกาศพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องใน 6 ภาค, ประชุมคณะกรรมการอำนวยการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละภาค, การลงพื้นที่เพื่อชี้แจงเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษา การพัฒนาผู้เรียน และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ คนไทยนับว่าโชคดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรมาอย่างยาวนาน จึงขอให้ทุกคนซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่สอดคล้องกับการยกระดับการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ความว่า “การให้การศึกษาที่ดีนั้น เป็นงานที่ละเอียดลึกซึ้งมาก จำเป็นต้องใช้ความรู้อันกว้างขวาง ใช้ความสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยความตั้งใจ และความเพียรพยายาม และความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะทำได้สำเร็จ” และ “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”

รวมทั้งพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ในหลวงรัชกาลที่ 10) ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด นำมาเป็นหลักในการทำงานด้านการศึกษา ตลอดจนการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างประโยชน์ สร้างภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน

จึงเน้นย้ำให้ครูน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ดังนี้ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัว และชุมชนของตน 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม คือ ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด/ถูก สิ่งดี/ชั่ว เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง 3) มีงานทำ มีอาชีพ คือ ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้ และ 4) เป็นพลเมืองดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษา และสถานประกอบการ ที่ต้องช่วยกันส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี อาทิ การมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร มีจิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

ในส่วนของ “ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง” จะต้องรู้จักกับการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวแทนความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีทักษะนักคิด นักพัฒนาที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การเป็นผู้ประสานงานอย่างราบรื่น ตลอดจนทักษะการประนีประนอม การประชาสัมพันธ์ และการประชาสงเคราะห์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ การนำนวัตกรรม แนวความคิด ตลอดจนองค์ความรู้ และภูมิปัญญาในท้องถิ่น เข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ ขอย้ำถึงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนการศึกษาแห่งชาติ และแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมกับ “ภูมิสังคม” อย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นจึงจะเกิดการพัฒนาที่มีประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้รวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเท็จจากเข้าผู้ร่วมการประชุมครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย เพื่อให้กระทรวงศึกษาศึกษาธิการนำไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงต่อไป

Written by ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว
Photo Credit ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor/Graphic บัลลังก์ โรหิตเสถียร