พบนักเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง  “คุณธรรมจริยธรรมบนพื้นฐานความเป็นไทย” ในกิจกรรมความรู้คู่คุณธรรมสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมอาคารสาธิตปทุมวัน 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน เป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศที่เรียกชื่อว่า “โรงเรียนสาธิต” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ 2496 ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ถือเป็นบุคคลต้นแบบของตนเองและผู้คนจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างมาก


นอกจากนี้ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ยังเป็นผู้ประพันธ์บทกลอนที่ไพเราะและเป็นที่กล่าวถึงมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ


“กล้วยไม้ มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ดอกออกคราวใด งานเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”


ในโอกาสนี้ที่ได้มาเยี่ยมเยียนพบปะนักเรียนในครั้งนี้ แม้จะเป็นนักเรียนชั้น ม.1 ของโรงเรียนที่มีจำนวนทั้งสิ้น 418 คน แต่ส่วนตัวรู้สึกประทับใจ ภูมิใจแทนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเด็กเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนส่วนใหญ่กล้าตอบคำถาม กล้าพูด สามารถตอบคำถามได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถือเป็นกระบวนทัศน์แห่งความร่วมมือร่วมใจที่มีความงดงามมาก



ทั้งนี้ มีลูกหลานนักเรียนที่ร่วมสนทนาและตอบคำถามต่าง ๆ ได้อย่างดี เช่น




  • เมื่อถามความหมายของคำว่า “กลยุทธ์ หรือแนวคิดที่เป็นระบบแบบแผนที่จะทำให้เรามีเข็มทิศชีวิตนำทางในที่ที่ควรจะไป” น้องพิม (ชื่อเล่นของนักเรียนรายหนึ่ง) ตอบว่า “กลยุทธ์ของตนเองคือ การตั้งใจเรียน อยากเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่เอาเปรียบคนอื่น”



  • “น้องนะโม” ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวชี้วัด 5 ข้อของโรงเรียนคุณธรรมได้อย่างถูกต้อง คือ “ความพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญู ความรับผิดชอบ และการยึดมั่นในหลักคุณธรรมจริยธรรม”



  • “น้องพิน” ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวชี้วัดของการทำงานสมัยนี้ว่า “นอกจากความเก่งแล้ว คนจะต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่อย่างนั้นจะทำให้ประเทศชาติประสบปัญหา ไม่โปร่งใส”



  • “น้องพีท” นักเรียนชาย ม.1  พูดถึงการเป็นโรงเรียนคุณธรรมว่า “โรงเรียนคุณธรรมถือเป็นภารกิจของผู้ปกครอง ครู โรงเรียน ที่จะต้องร่วมกันทำ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำ”



  • “น้องเจียเจีย” ตอบคำถามเกี่ยวกับ “รู้ รัก สามัคคี” หมายความว่า “เราต้องรัก สามัคคี ปรองดองกัน เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จ เพราะเราใช้ชีวิตคนเดียวในสังคมไม่ได้ จึงต้องมีกติการ่วมกัน เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ และมีจิตใต้สำนึกที่ดี”



ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ขอให้นักเรียนนำแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานและการดำรงตน 4 ประการ เพื่อนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตทั้งส่วนตนและส่วนรวม กล่าวคือ Protocol การรู้จักระเบียบและพิธีการ เพราะการอยู่ในสังคมนั้นเราต้องรู้จักพิธีการในการดำรงชีวิต, Etiquette คือสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่สุดโต่ง ไม่ออกนอกกรอบ, Manners การมีมารยาทที่ดี และ Education การหมั่นศึกษา ขวนขวายหาความรู้ พร้อมทั้งย้ำให้นักเรียนอย่าลืมเอกลักษณ์ที่ดีของคนไทย เช่น การกราบ การไหว้ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ลืมธรรมเนียมที่ดีคือ ควรรับไหว้เด็ก ๆ เช่นกันด้วย




บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
28/8/2560