พบปะกับ นศ.มทร.วิทยาเขตโชติเวช
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร – ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในอดีตคนไทยเคยเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีจิต มีเมตตา มีความจริงใจ จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “Thainess” (มาจากคำว่า “Kindness”) ซึ่งหมายถึงความมีเอกลักษณ์ในรูปแบบคนไทย ที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและมีอัธยาศัยไมตรีต่อผู้พบเห็นอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันจากการได้ลงพื้นที่ พบว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทยของเราเหือดหายไป โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงทั้งด้านความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การขาดคุณธรรมจริยธรรมของผู้คน ตลอดจนปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด ฯลฯ
จึงขอให้นักศึกษาและครูอาจารย์ได้มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดสถาบันการศึกษาคุณธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยงานด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม ดังนั้นหากเราจะได้ร่วมใจกันผลักดันให้สถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาคุณธรรมเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ก็จะถือเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน ตามรอยพระยุคคลบาท โดยเริ่มจากการที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์จะได้นำกรอบแนวคิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาคุณธรรมไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ครู และนักศึกษาอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง ทั้ง 5 ประการ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรม
นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนช่วยเสริมสร้างความเป็นคนไทย ที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม มีน้ำใจ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เกรงอกเกรงใจผู้อื่น เพื่อดำรงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ชั่วรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมทั้งสอนให้เขาได้รู้ถึงความเป็นมาของตนเอง รู้ถึงความเสียสละของบรรพบุรุษและบูรพมหากษัตริย์ที่สร้างบ้านสร้างเมือง พร้อมเชื่อมโยงสู่ปัจจุบันที่จะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม และให้เด็กเยาวชนไทยนำพาประเทศสู่อนาคตที่เจริญก้าวหน้าต่อไป
โอกาสเดียวกันนี้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวเพิ่มเติมถึงการมาพบปะสนทนาครั้งนี้ด้วยว่า ได้พูดคุยกันหลาย ๆ เรื่อง อันมีความหลากหลายในช่วงเวลาประมาณ 50 นาที โดยมีส่วนหนึ่งจากการพูดคุยสนทนา ดังนี้
‘เรื่องการดำรงชีวิตของลูกหลานในยุคสมัยที่ใครต่อใครมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากแต่เป็นเรื่องท้าทาย ความหนักแน่นของลูกหลานจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก นิยามคำว่าหนักแน่นในที่นี้ คือ ความรอบคอบถี่ถ้วน ไม่เอาแต่ใจ คิดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น มีความเกรงใจ และเป็นสุภาพชน ความหนักแน่นยังครอบคลุมไปถึงเรื่องความมีเมตตากรุณาและความซื่อตรง ปรัชญาทางการศึกษาของโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่เรียนเก่ง แต่ต้องมีความพร้อมทางวุฒิภาวะ และมีความรับผิดชอบ
กระผมกล่าวไปว่า ลูกหลานเยาวชนควรยึดมั่นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแบบอย่างที่ยั่งยืน ทรงเป็นต้นแบบที่จะดำรงอยู่ในหัวใจของประชาชนชาวไทยตราบนานแสนนาน มาพบปะสนทนากับทุกท่านวันนี้ จึงอยากให้ลูกหลานเยาวชนดำรงรักษาพระองค์ท่านอยู่ในดวงใจของลูกหลานตลอดไป ที่จะทำให้เข็มทิศชีวิตของทุกคนเดินหน้าไปในทิศทางแห่งคุณธรรมจรรยา มีคติธรรมคำสอนที่กระผมได้รับฟังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเคยตรัสสอนไว้แก่ลูกหลานเยาวชน ความขยันหมั่นเพียรถือเป็นหน้าที่ของลูกหลานเยาวชน เป็นโอกาสพิเศษที่ลูก ๆ หลาน ๆ ต้องมุ่งขวนขวายในฐานะนักการศึกษาที่ดี
แต่ในขณะเดียวกัน การทำความดีที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ ความกตัญญูต่อบิดามารดา ครูอาจารย์ สิ่งนี้จะได้รับการละเลยการปฏิบัติไม่ได้ เพราะคนทุกคน ครอบครัวทุกครอบครัว สังคมทุกสังคม ดำรงอยู่ด้วยคุณงามความดีประการนี้ ไม่ใช่ความไม่ดี คนทุกคนทุกชาติทุกภาษาเกิดมาพร้อมธรรมชาติของความดีด้วยกันทั้งสิ้น ความผิดหรือแม้แต่ความชั่วกลายเป็นเรื่องที่สิ่งแวดล้อมนำพาเข็มทิศชีวิตเดินหน้าไปในทางที่ผิดพลาด ความรอบคอบ ไม่ผลีผลาม ความรับผิดชอบ ความพอเพียง ความซื่อตรง และความกตัญญู กลายเป็นหัวใจของการดำรงชีวิตที่จะไม่มีวันล้าสมัย ใครตำหนิเราว่าเชย ว่าล้าหลัง ไม่ทันโลกาภิวัตน์ จงให้อภัยเขาเถิด อย่าถือสาเขา เพราะเขานั่นแหละที่ล้าสมัย’
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
21/3/2560