พัฒนาครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรม

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรม ให้กับโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ  กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘สืบสานพระราชปณิธานโรงเรียนคุณธรรม’ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2560 ณ โรงแรมเอวาน่า บางนา โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชนไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะองค์กรหลักเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้เยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้จัดทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ตามกรอบแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบ และอุดมการณ์คุณธรรม ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี


จากความสำเร็จในการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้ สพฐ. ขยายผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ให้ครอบคลุมโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็ก และเยาวชนในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม โดยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น จัดตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียน หรือสถานศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าว นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในระดับบุคคลแล้ว ยังนับเป็นการยกระดับคุณธรรม จริยธรรมให้กับสังคม และประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย


ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ในอดีต การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นหน้าที่หลักของทุกสถาบันในสังคม ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมไปถึงสถาบันศาสนา ที่มีบทบาทหน้าที่ร่วมกันในการปลูกฝัง กล่อมเกลาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเข้มแข็งทางคุณธรรม จริยธรรมในจิตใจ และกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศ แต่ในปัจจุบัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ภาระหน้าที่ดังกล่าวตกเป็นของสถาบันการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการคุณธรรมของทุกภาคส่วน ไม่ได้เป็นเพียงการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น แต่เป็นการสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนใน 4 ประการ ก็คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต และ 4) เป็นพลเมืองดี และการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมในครั้งนี้ถือเป็นการเดินตาม รอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการสร้างคนดีให้แก่บ้านเมืองอีกทางหนึ่งด้วย



นายบุญรักษ์ ยอดเพชร กล่าวว่า สพฐ. ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ประสานความร่วมมือกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรมให้กับโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 58 โรงเรียน โดยกำหนดให้แต่ละโรงเรียนส่งผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 1 คน ครูวิชาการจำนวน 1 คน และครูผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับคุณธรรม จำนวน 1 คน รวมโรงเรียนละ 3 คน เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่การเป็นครูวิทยากรโรงเรียนคุณธรรมตามแนวทางของมูลนิธิยุวสถิรคุณ รวมจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ทั้งสิ้น 174 คน


ทั้งนี้ กระบวนการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชนไทย เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่าง ๆ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาได้นำไปใช้ในการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการประกอบวิชาชีพ หากบุคคลใดหรือวิชาชีพใดไม่มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักยึดเบื้องต้นก็ยากที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จแห่งตนและแห่งวิชาชีพนั้น ๆ


ซึ่งนอกจากการพัฒนาโรงเรียน ผู้บริหาร ครู นักเรียน ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัด สพฐ. แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการจัดการศึกษาด้วยความเสมอภาค และเท่าเทียมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยการขยายผลการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรมให้กับโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย



กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี: รายงาน
ขอบคุณข้อมูล: สพฐ.
ขอบคุณภาพถ่าย: คณะทำงาน รมช.ศธ.
8/9/2560