ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 179/2558
ประชุม คกก.พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย DLIT
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) – พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ครั้งที่ 4/2558 โดยมีพันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร สพฐ. ผู้บริหารจากบริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2558 ที่ห้องประชุม สพฐ. อาคาร 4 ชั้น 2

ภาพ : กุณฑิกา พัชรชานนท์
ที่ประชุมเห็นชอบแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการในเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ประกอบด้วยการทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น มีคุณลักษณะนิสัยที่สอดคล้องกับค่านิยมหลัก 12 ประการ และการเตรียมนักเรียนเพื่อรองรับศตวรรษที่ 21 เรื่องที่จะดำเนินการได้ในระยะแรกในทันที 4 ด้าน คือ การดำเนินงานด้านหลักสูตร ด้านกระบวนการเรียนรู้ ด้านการวัดและประเมินผล และด้านการนิเทศ
– ด้านหลักสูตร ในระดับประถมศึกษาจะมีการกำหนดเวลาในการเรียนวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยให้สถานศึกษาสามารถปรับลดหรือเพิ่มเวลาเรียนได้ตามจุดเน้นของสถานศึกษา เช่น สถานศึกษาที่มีจุดเน้นหรือปัญหาเรื่องการอ่าน สามารถเพิ่มชั่วโมงเรียนในวิชาภาษาไทย แต่จะต้องให้ได้จำนวนเวลาเรียนครบตามเวลาเรียนรวมของทั้งปีการศึกษาที่กำหนด
ในระดับมัธยมศึกษาจะต่างกันเนื่องจากมีการนับเป็นหน่วยกิต ซึ่ง 1 หน่วยกิตเทียบเท่ากับ 40 ชั่วโมง หากนักเรียนเรียนวิชาที่มี 3 หน่วยกิต เท่ากับว่านักเรียนจะต้องเรียนวิชาดังกล่าวทั้งสิ้น 1,200 ชั่วโมง ในการปรับลดการจัดการเรียนการสอนจึงต้องดำเนินการในลักษณะการบูรณาการ เมื่อมีการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือแม้กระทั่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันก็จะทำให้เวลาเรียนลดลงได้ เมื่อจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการแล้วจะต้องมีแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการหรือหน่วยบูรณาการซึ่งจะจัดทำเป็นตัวอย่างให้กับสถานศึกษา และมีการวางแผนการประเมินรายหน่วยการเรียนรู้/รายวิชาบูรณาการ
– ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้แนวทางพัฒนาการทางสมอง (Brain-based Learning : BBL) มาใช้ เพื่อให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ในหนึ่งปี โดยใช้จุดเน้นกุญแจ 5 ดอก ได้แก่ 1) สนามเด็กเล่น เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมการก่อนเข้าชั้นเรียน เน้นการออกกำลังกายที่สนามเด็กเล่น ฝึกทักษะด้านสมองและสติปัญญาเพื่อเตรียมเข้าสู่ชั้นเรียน 2) ห้องเรียน ที่เน้นเรื่องสีสันของอุปกรณ์ต่างๆ มีมุมการอ่านในห้องเรียน มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย เน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย 3) กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเน้นเรื่องการใช้กิจกรรมขยับกายขยายสมองทุกต้นชั่วโมง การกระตุ้นสมองทั้งสองซีก โดยใช้เพลง บทกลอน หรือกิจกรรมสนุกสนานเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ ทั้งด้านภาษาและคณิตศาสตร์ การกระตุ้นสมองสี่ส่วน โดยให้นักเรียนได้เห็นภาพ รับรู้ ได้ยินเสียง ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ 4) หนังสือเรียนและใบงาน เป็นการจัดให้มีหนังสือเรียนและหนังสืออ่านเพิ่มเติมที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และมีใบงานตามหลักของ BBL และ 5) สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ คือการจัดหาสื่อและเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดการเรียนรู้ การจัดหากระดานเคลื่อนที่สำหรับห้องเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา การจัดทำบัตรภาพและบัตรคำเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน
ส่วนสำคัญอีกส่วนคือ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเสริมทักษะอาชีพ โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที 1-6 (Career Orientation) เน้นการสร้างนิสัยการทำงานที่พึงประสงค์ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 (Career Exploration) ให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ภาพของงานและฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้น ค้นหาความต้องการของตนเองในการกำหนดอาชีพ และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 (Career Preparation) ให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพในอนาคตอย่างมีความหมาย และฝึกประสบการณ์ทางอาชีพ ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์ปรับทัศนคติของผู้ปกครองและนักเรียนที่มีต่อการออกไปประกอบอาชีพด้วย
– ด้านการวัดและประเมินผล มีการจัดทำ DLIT Assessment และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดตั้งชมรมหรือเครือข่ายนักวัดและประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับเขตพื้นที่การศึกษา การพัฒนาข้อสอบรายมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ในทุกระดับชั้นเพื่อบรรจุเข้าคลังข้อสอบในระดับเขตพื้นที่การศึกษา การพัฒนาระบบจัดสอบแบบเครือข่ายออนไลน์ (Online Testing System : OTS) ที่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาสามารถเข้าถึงได้ การประยุกต์ใช้ระบบจัดสอบแบบเครือข่ายออนไลน์ในระดับเขตพื้นที่และสถานศึกษา มีทั้งการสอบออนไลน์ การสอบกึ่งออนไลน์ และการสอบด้วยกระดาษ
– ด้านการนิเทศ มีการดำเนินงาน “การพลิกโฉมการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในหนึ่งปี” ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการนิเทศเพื่อปลูกจิตสำนึกให้ผู้นิเทศ ผู้รับการนิเทศ มีแรงขับจากภายใน ฉุกคิดและนำไปสู่การปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้ด้วยตนเองโดยปราศจากเงื่อนไข ผ่านระบบปฏิบัติการ (Application) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบแสดงผลทันที ปัจจุบันการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากศึกษานิเทศก์เป็นเอกสารกระดาษ ก่อนนำมาแปลงผลเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนและล่าช้า
ดังนั้น เพื่อลดการใช้กระดาษ เสริมประสิทธิภาพ และเพิ่มความรวดเร็วในการรวบรวม จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากงานรายงาน ลดปัญหาเอกสารสูญหาย หาไม่เจอ หรือต้องใช้เวลานานในการค้นหา จึงได้มีการพัฒนางานระบบแอพพลิเคชั่นศึกษานิเทศก์ (Supervision Application) โดยมีศึกษานิเทศก์ ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ใช้งานระบบดังกล่าวผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ทั้งขั้นตอนของการปฏิบัติงานการนิเทศการศึกษา การตรวจสอบ การติดตามผล และการสรุปผล วิเคราะห์ผล
และในเดือนมิถุนายน 2558 จะมีการประชุมผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศเพื่อนำเรื่องการพลิกโฉมการนิเทศฯ ไปนำเสนอ เพื่อให้ทราบความเคลื่อนไหว และนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ที่ประชุมเห็นชอบการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล” ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบที่มีฐานะเทียบเท่าสำนัก สังกัด สพฐ. เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งจะดำเนินการให้กับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศตามโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่
โดยมีอำนาจหน้าที่ ในการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) วางแผนปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและค้นคว้าหาความรู้ที่มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล รวมทั้งปรับวิธีการวัดผลและประเมินผลที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล และดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง วิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล รายงานผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลแก่ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณะ ดำเนินงานตามภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล
มีโครงสร้างการบริหาร แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มงาน ได้แก่ 1) กลุ่มงานบริหารทั่วไป 2) กลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม 3) กลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4) กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล 5) กลุ่มงานนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินการจัดการศึกษาทางไกล และ 6) กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาทางไกล
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ปรับแก้ในส่วนที่ระบุให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น “สถาบัน” พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายใน 3 ปี เปลี่ยนเป็น ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น “สำนัก” ขอปรับแก้เป็น “สำนัก” พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และตัดคำว่า “ภายใน 3 ปี” ออก เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานได้มากขึ้น
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2556-2557 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างรอกรมบัญชีกลางเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว โดยสำนักการคลังและสินทรัพย์จะสามารถดำเนินการโอนเงินให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณ DLIT (Distance Learning via Information Technology) และ DLTV (Distance Learning Television) ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน สำหรับงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2558
ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารชี้แจงงบประมาณเพื่อนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ก่อนนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) ให้ความเห็นชอบและนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการต่อไป
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงาน การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การประเมินและการรายงานผลออนไลน์ โดยบริษัท ฟีดแบค 180 จำกัด เป็นผู้จัดทำและให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องการติดตาม การประเมินผล การประชุม การอบรม การขยายผลการศึกษาทางไกลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งการประเมินผลการดำเนินงานและการจัดงาน “รวมพลังพลิกโฉมโรงเรียนในหนึ่งปี” เรื่อง การอ่านออกเขียนได้
ในส่วนของการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ทันวันเปิดภาคเรียนที่ 1 แต่เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณทำให้ไม่มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ และอาจทำให้การดำเนินงานบางส่วนเกิดปัญหาได้ จึงต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการ คาดว่าประมาณเดือนมิถุนายนจะสามารถเปิดตัวโครงการได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรมบัญชีกลางอนุมัติงบประมาณที่เสนอขอเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในการหาครูต้นแบบในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษคือ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นครูในสังกัด สพฐ. และเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาเป็นครูต้นแบบในวิชาดังกล่าว ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตอบรับมาเป็นครูต้นแบบให้แล้ว นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยี ได้แก่ YouTube Google iTune U และ Microsoft สำหรับความร่วมมือด้านเนื้อหาและสื่อวีดิทัศน์ มีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไทยพีบีเอส ที่ตอบรับแล้ว และในอนาคตคาดว่าจะมีความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงานด้วย
นอกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือการพัฒนาครู ซึ่งภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมดำเนินการในลักษณะให้เปล่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาและทำข้อตกลงร่วมกัน คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ครูระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศจะได้เข้ารับการอบรม โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ครูที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ และตัวครูเอง เพื่อเป็นผู้สร้างสื่อการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย และ 2) ครูที่ไม่มีความพร้อม ขาดเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ เพื่อจะได้เป็นผู้ใช้ระบบหรือเครื่องมืออย่างคุ้มค่า

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลเป็นอย่างดี มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำสรุปผลการประชุมโดยย่อเพื่อนำเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการได้รับทราบถึงแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์ให้สังคมและสาธารณชนได้รับทราบ โดยจะต้องมีความชัดเจนในห้วงเวลา การดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เห็นผลได้ในเชิงปริมาณ อาจจัดทำในลักษณะรายงานผลประจำเดือน
ในการนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการติดตามการใช้งบประมาณ กวดขันการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “สุจริต โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้” และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือและช่วยกันในการดำเนินงานให้เต็มที่ เป็นไปตามแผนงานที่ตั้งไว้
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
31/5/2558