“อาชีวะภาคกลาง” โชว์สิ่งประดิษฐ์กว่า 220 ชิ้น หวังจับคู่ภาคธุรกิจเพื่อนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เพื่อช่วยสร้างรายได้ในพื้นที่ พร้อมส่งแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “การขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม” ภาคกลาง ซึ่งจัดขึ้นที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี อ.เมือง จ.ปทุมธานี
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีของการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนงานด้านอาชีวศึกษา ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติ จึงขอใช้โอกาสนี้สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่จะทำให้เกิดความร่วมมือตามกลไกประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง “การสร้างความสามารถในการแข่งขัน” เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะและความสามารถในการแข่งขันในมิติเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน การเกษตร การท่องเที่ยว การพาณิชยกรรม เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาประเทศสู่ THAILAND 4.0
ทั้งนี้ “การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” ถือเป็นหัวใจสำคัญและเป็นบทบาทด้านการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาชีวศึกษาซึ่งมีหน้าที่ประสานการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่ใน 6 ภูมิภาคของไทย ซึ่งถือว่าทุกภูมิภาคมีความสำคัญและเชื่อมโยงสู่การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น แต่มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของภาคกลาง จะเน้น “การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง”
การจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ด้วย โดยเป็นการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา 75 แห่ง กว่า 150 คู่ เน้นความร่วมมือของนักประดิษฐ์และสถานประกอบการเพื่อนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม มีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ได้รับการเจรจาซื้อใน 4 รูปแบบ คือ เจรจาแล้วซื้อ 39 ผลงาน, ให้คำแนะนำและซื้อ 28 ผลงาน, ให้โจทย์เพื่อผลิตและซื้อ 11 ผลงาน และให้คำปรึกษาต่อยอดธุรกิจเพื่อพัฒนาให้เกิดความสมบูรณ์ในโอกาสต่อไป 19 ผลงาน พร้อมจัดพิธีลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา และมอบเกียรติบัตรแก่สถานประกอบการและสถานศึกษา
จึงขอขอบคุณผู้ประกอบการ ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้ให้การสนับสนุนและร่วมสร้างสรรค์ ให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติ พร้อมน้อมรับคำแนะนำในการส่งเสริมสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงผลงานให้มีประสิทธิภาพตรงความต้องการของภาคธุรกิจต่อไป

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานว่า การจัดงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมครั้งนี้ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการอาชีวศึกษา ที่เสริมสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดต่อยอดกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการสื่อสารเชิงธุรกิจกับสถานประกอบการตามกลยุทธ์ด้านการตลาด ที่จะช่วยทำให้โรงฝึกงาน หรือ “ช้อป” มีชีวิตมีความเคลื่อนไหว สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการสร้างรายได้และการพัฒนาองค์ความรู้ที่สูงขึ้น
โดยได้นำสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและได้รับรางวัลความภาคภูมิใจมาจัดแสดงภายในงานจำนวนมากในหลายสาขา อาทิ อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน จุกน้ำปลากันเลอะ เครื่องสารพัดตามพลังงานแสงอาทิตย์ มีดสางใบอ้อย เครื่องปั่นเม็ดเลือดแดง เครื่องเตือนไฟไหม้สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น













โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาอาชีวะภาคกลาง 220 ผลงาน ที่นำองค์ความรู้จากการเรียนการสอนมาพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของประเทศ
Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร