พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษ – พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการโรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมศรีลำดวน อำเภอเมืองศรีสะเกษ

ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวรายงานถึงผลการประชุมปฏิบัติการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่

พิธีเปิดการประชุม  ได้รับเกียรติจากนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงาน กศน.จังหวัดศรีสะเกษ อาชีวศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษเขต 1-4 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังมีผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้แทนครู ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมประชุมจำนวน 273 คน

ทั้งนี้ ผวจ.ศรีสะเกษในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้หลักคิดการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษว่า เป็นงานที่มีความสำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัด ซึ่งการจะได้รับความร่วมมือจากผู้อื่นนั้น เราจะต้องให้ความร่วมมือกับเขาก่อน ในส่วนของการสร้างนวัตกรรม ก็ไม่ควรเน้นหรือยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป แต่ขอให้ทำเพื่ออนาคตของเด็กเป็นสำคัญ อย่าทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพียงเพื่อเปลี่ยนสถานะ เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือให้ได้รับงบประมาณมากขึ้นเท่านั้น

ความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง  จังหวัดศรีสะเกษได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นอกจากนั้น ยังได้รับอนุมัติกรอบงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สนับสนุนการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงบประมาณของจังหวัด โดยมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในหลายส่วน อาทิ การกำหนดเป้าหมายคนรุ่นใหม่ศรีสะเกษ “รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ และมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ”, การประชุมคณะทำงานหลักรวม 13 ครั้ง, การสร้างการรับรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง, การประชุมจัดทำแผน ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งได้อนุมัติแผนพัฒนาปีงบประมาณ พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามเกณฑ์และประกาศรายชื่อ 42 สถานศึกษานำร่อง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561

แนวทางการพัฒนาโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2562  การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เป็นความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเพื่อการศึกษาไทย  (Thailand Education Partnership: TEP) เพื่อลดช่องว่างระหว่างระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติ (Top down) และระดับปฏิบัติสู่ระดับนโยบาย (Bottom up) ในลักษณะ Sandbox ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาระดับจังหวัด โดยรับฟังเสียงของคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์บริบทพื้นที่ ปรับการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการในบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคปัญหา ตลอดจนเป็นองค์รวมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลและสถาบันอาศรมศิลป์ มีบทบาทในการสนับสนุนเวทีรับฟังเสียงของคนศรีสะเกษ ภายใต้การทำงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างสภาพแวดล้อม (Learning Space) ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาโรงเรียนให้สามารถต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมด้วยห้องเรียน Active Learning การจัดหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมกับศึกษานิเทศก์และโรงเรียนเพื่อจัดหาพี่เลี้ยงมืออาชีพ (Mentor) ช่วยพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนให้เข้มแข็ง

โดยมีแผนพัฒนาโรงเรียนนำร่อง ได้แก่ เดือนมกราคม จัดกิจกรรม Open minded school mission, เดือนกุมภาพันธ์ จัดทำ Social lab และกรอบหลักสูตรศรีสะเกษศึกษา, เดือนเมษายน จัดกิจกรรม Introduction program สำหรับผู้บริหารโรงเรียน และทบทวนแผนการศึกษาจังหวัด, เดือนพฤษภาคม เริ่มปฏิบัติจัดการเรียนการสอน และเดือนมิถุนายน จัดกิจกรรม School visit และทีมวิจัยเก็บข้อมูลเพื่อทำการศึกษาวิจัยหลายส่วน

การประชุมกลุ่มเพื่อระดมความคิด ประเด็น “การมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาและการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ” ดังนี้

     กลุ่มที่ 1 กลุ่มสถานศึกษานำร่อง จำนวน 42 โรงเรียน มีสรุปข้อเสนอแนะ ได้แก่ การจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จได้ ควรสร้างนักเรียนให้มีพฤติกรรมที่ดี โดยครูเป็นแบบอย่างที่ดี สุขุม ใจเย็น และผู้บริหารสถานศึกษา มีภาวะผู้นำสูง สามารถนำความคิดและนำปฏิบัติได้, เสนอแนะการแก้ปัญหาไม่มีสมาธิในการเรียน ด้วยจิตศึกษา และการอ่านเขียนไม่ได้ ด้วย PLC ทั้งนี้ ขอให้ส่วนกลางยกเลิกการประกวดแข่งขันต่าง ๆ พร้อมกับลดนโยบายรายวัน ที่จะดึงครูออกจากห้องเรียนด้วย

     กลุ่มที่ 2 ภาคีการศึกษา จำนวน 8 หน่วยงาน มีความยินดีและพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงาน กศน. เกี่ยวกับการจัดทำ Big Data สนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต และแหล่งเรียนรู้ของตำบล อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านโบราณสถาน ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านแหล่งท่องเที่ยว และด้านสถานประกอบการ

     กลุ่มที่ 3 ภาคธุรกิจ จำนวน 6 หน่วยงาน ได้สะท้อนถึงความต้องการให้การศึกษาพัฒนาคนให้มีทักษะที่จำเป็น จัดคนให้ตรงงาน ตอบโจทย์ธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจเชิงพื้นที่ได้ โดยยินดีที่จะช่วยสนับสนุนการปรับกระบวนการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น ช่วยให้เด็กเท่าทันนวัตกรรม และเตรียมสู่โลกการทำงานจริง

     กลุ่มที่ 4 คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งทุกคนต้องการให้บุตรหลานเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ แต่ก็ยังพบว่า มีสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กศรีสะเกษ อาทิ ปัญหาครอบครัว ปัญหาโรงเรียน ปัญหาสภาพแวดล้อม ตลอดจนบทบาทการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองที่เพิ่มมากขึ้น

     กลุ่มที่ 5 กลุ่มเยาวชน ซึ่งได้ระดมความคิดเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตว่า เด็ก ๆ ต้องการแสวงหาโอกาส เพื่อให้เป็นไปตามความฝันของแต่ละคน จึงต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนจากผู้ใหญ่ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้จริง ๆ

พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ โดยได้รับมอบหมายจาก พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ให้เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ ใน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดศรีสะเกษ, ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี, ภาคตะวันออก: จังหวัดระยอง, ภาคใต้: จังหวัดสตูล และภาคใต้ชายแดน: จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาใหม่ ๆ การนำนวัตกรรมใหม่นี้ไปใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ และการระดมทรัพยากรจากภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาในพื้นที่ เพื่อร่วมสนับสนุนนวัตกรรมการศึกษาในภาพรวม

ในส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ จากการรายงานผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมนิทรรศการ ต้องขอแสดงความชื่นชมทุกภาคส่วนในจังหวัดที่บูรณาการและดำเนินงานในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน ทั้งในเชิงอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้สิ่งที่เป็นอยู่ให้เกิดประโยชน์เชิงความคิด พัฒนาสู่นวัตกรรม ดังเช่นผลงานที่ได้นำมาแสดงในครั้งนี้ เป็นการนำสิ่งใกล้ตัว วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย มาพัฒนาสื่อการเรียนการสอนได้อย่างหลากหลาย ซึ่งต้องชื่นชมครูทุกคน ที่ดึงศักยภาพของตนเอง ทั้งหลักความรู้ การประยุกต์ใช้ แนวคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดสู่นักเรียนจนเกิดความก้าวหน้าอย่างชัดเจน

สิ่งหนึ่งที่จะขอฝากให้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ เมื่อได้มีการคัดเลือกสถานศึกษานำร่อง 42 แห่ง เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของตนเองแล้ว ให้คำนึงถึงอีก 900 โรงเรียนในพื้นที่ศรีสะเกษ ที่จะนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ด้วย เพื่อที่จะเดินไปด้วยกันได้ในภาพรวมของจังหวัด และหลังจากศรีสะเกษเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเต็มรูปแบบทั้งจังหวัด ก็จะเป็นตัวอย่างให้สถานศึกษาในจังหวัดอื่นที่มีบริบทใกล้เคียงกัน สามารถนำนวัตกรรมของจังหวัดศรีสะเกษ ไปใช้ต่อได้ในอนาคตไป

นอกจากนี้ ย้ำถึงการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน อาทิ พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ดังนั้น จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” (ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 12 ธันวาคม 2512)

โอกาสนี้ พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมเด่นในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ โดยมูลนิธิสยามกัมมาจล, โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL (Problem-based Learning) PLC (Professional Learning Community) โดยโรงเรียนบ้านปะทายและโรงเรียนบ้านนาขนวน, มอนเตสซอรี โดยโรงเรียนบ้านหนองหวาย, การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด โดยโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ-หนองศาลาศรีสะอาด, เพาะพันธุ์ปัญญา โดยโรงเรียนกระแชงวิทยา, การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเป็นฐาน RBL (Research-Based Learning) โดยโรงเรียนบ้านดอนข่า, การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (BBL) โดยโรงเรียนบ้านไผ่หนองแคน และโครงงาน (Project Approach) โดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

Written by นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน
Rewriter นวรัตน์ รามสูต
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร