เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม 2561 พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการโรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงแรมราชศุภมิตร (อาร์ เอส โฮเต็ล) จังหวัดกาญจนบุรี
พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล กล่าวว่า การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งมอบให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ คือ ระยอง (ภาคตะวันออก) สตูล (ภาคใต้) ศรีสะเกษ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) กาญจนบุรี (ภาคกลาง) และปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส (ภาคใต้ชายแดน) เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในทิศทางใหม่ ๆ และนำนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรีนั้น จากการที่ได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงาน ต้องขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดที่บูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะพบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานอยู่บ้าง อาทิ การขาดแคลนครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก, การพัฒนาสื่ออุปกรณ์การสอน เป็นต้น ทำให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาการจัดการระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสถานศึกษาในพื้นที่ การให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยให้แตกฉานเชื่อมโยงกับการใช้สื่อและเทคโนโลยี รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยจัดการศึกษาด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในระยะแรก สามารถศึกษาและเรียนรู้จากโรงเรียนนำร่องที่มีบริบทคล้ายคลึงกัน เพื่อนำไปปรับใช้ตามแนวทางการดำเนินการและบริบทของพื้นที่ต่อไปได้
นายสมเจต จงศุภวิศาลกิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 8.6 แสนคน และเนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ ทำให้มีความแตกต่างในหลายส่วน ทั้งด้านภูมิประเทศที่เป็นภูเขา แม่น้ำ ที่สูง ชุมชนเมือง ที่ดินอุดมสมบูรณ์และแห้งแล้ง ด้านอาชีพ และด้านเชื้อชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรีกว่า 8 ล้านคนต่อปี ทำให้เกิดธุรกิจบริการขึ้น ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของสังคมในแต่ละพื้นที่ได้ ก็จะทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรีดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น
นายวิทยาเกียรติ เงินดี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพสังคมและเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม การยกระดับคุณภาพการศึกษา ในภาพรวมยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการบริหารงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะมีความคล่องตัวและมีอิสระมากขึ้น ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมจัดการศึกษา พร้อมทั้งพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และขยายไปยังพื้นที่อื่นในจังหวัดกาญจนบุรีอย่างทั่วถึง
การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการหารือและระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย จำนวน 3 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดสรุป ดังนี้
กลุ่มย่อยที่ 1 : การวิเคราะห์กลไกการทำงานในเชิงพื้นที่ มีข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายด้านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ การจัดการศึกษาควรมีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นตามบริบทของโรงเรียน พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญประสานงานและติดตามการใช้หลักสูตรในพื้นที่, ส่วนในด้านสื่อการเรียนการสอนและตำราเรียน ให้มีการจัดอบรมการผลิตสื่อการเรียนการสอนและนวัตกรรมให้กับครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาสื่อการเรียนการสอนราคาสูง และได้รับหน้งสือเรียนล่าช้า ซึ่งจะเชื่อมโยงกับนโยบายประเทศไทย 4.0 การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 STEM Education เป็นต้น
สำหรับการประเมินผู้เรียน ให้คำนึงถึงศักยภาพและบริบทของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการนำคะแนน O-NET มาตัดสินเพียงอย่างเดียว ในส่วนการประเมินโรงเรียนควรให้สถานศึกษาพิจารณาเข้ารับการประเมินตามความพร้อมและศักยภาพของตัวเอง
ในส่วนของบุคลากรและอัตรากำลัง ควรมีการจัดสรรอัตรากำลังครูให้ทันช่วงเปิดภาคเรียน หรือบรรจุครูที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูและมีครูไม่ครบตามรายวิชา เช่นเดียวกับด้านการเงินและงบประมาณที่ยังเบิกจ่ายไม่มีความคล่องตัว ควรที่จะมีการจัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่การเงิน พัสดุ และธุรการให้กับโรงเรียน เพื่อลดภาระครูที่ทำหน้าที่ธุรการ หรือจัดอบรมความรู้ด้านการเงินและพัสดุให้กับครูธุรการในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรอัตราครูได้ทัน เพื่อลดข้อผิดพลาดในการทำงาน
กลุ่มย่อยที่ 2 : ระบบและกลไกการหรือการจัดการศึกษาร่วมกันของภาคส่วนในพื้นที่ เสนอให้มีการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี โดยคำนึงถึงกรอบหลักสูตรและมาตรฐานตัวชี้วัดต่าง ๆ พร้อมเน้นการบริหารจัดการแบบ Bottom up และนำกลไกการมีส่วนร่วมเข้ามาใช้ โดยตั้งหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา และกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน โดยประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบขั้นตอนปฏิบัติงานที่ชัดเจน ด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแบบเอกสารและสื่อออนไลน์
สำหรับการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ควรดำเนินงานในหลายด้าน อาทิ การแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบในแต่ละฝ่าย, การให้อาจารย์มหาวิทยาลัยช่วยดูแลด้านวิชาการ, การจัดสรรครูอัตราจ้างเพื่อแก้ปัญหาครูขาดแคลน, การให้สวัสดิการกับครูถิ่นทุรกันดาร, การพัฒนาครูด้วยการจัดอบรมตามความต้องการของครูในพื้นที่, แบ่งปันครูวิชาเอกที่ขาดแคลนให้กับโรงเรียนอื่น เป็นต้น ส่วนด้านวัสดุครุภัณฑ์ สถานศึกษาอาจขอรับการสนับสนุนจากต้นสังกัด หรือภาคเอกชน พร้อมแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างสถานศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เช่น สถาบันครอบครัว ดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน, วัด ร่วมมือกันพัฒนาพฤติกรรมเชิงบวก, ชุมชน จัดกลุ่มพี่สอนน้องช่วงเย็นในหมู่บ้าน, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยดูแลสุขอนามัย, ปราชญ์ชาวบ้าน จัดสรรเวลาให้ปราชญ์ชาวบ้านมาสอนนอกเวลาเรียน, อุตสาหกรรมจังหวัด ประสานช่วยเหลือสถานที่ทำงาน, สถานประกอบการภาคเอกชน สนับสนุนงบประมาณและสถานที่ทำงาน, แรงงานจังหวัด ให้ข้อมูลด้านตลาดแรงงานเพื่อจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการ เป็นต้น
กลุ่มย่อยที่ 3 แนวทางขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี เสนอให้ยึดวิสัยทัศน์ของจังหวัด “เมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนา” เป็นหลักในการดำเนินการพร้อม ๆ กับยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียน, การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา, การพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา, การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ โดยมีแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดังนี้
– การพัฒนาการอ่านการเขียน โดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการคิด การอ่าน และการเขียน ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 สามารถอ่านออกเขียนได้ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 มีทักษะในการอ่านเขียนอย่างคล่องแคล่ว
– การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยครูเจ้าของภาษาหรือครูต่างชาติ เพื่อให้โรงเรียนมีครูชาวต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ เป็นการเตรียมเด็กและเยาวชนในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับสื่อสารกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดกาญจนบุรีได้
– ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้โดยใช้ PBL คูณ 2 กล่าวคือ การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ Project-based Learning และ Problem-based Learning มาพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดริเริ่มและสามารถสร้างนวัตกรรม ตลอดจนมีแรงจูงใจในการเรียนและพัฒนาความคิดอย่างมีวิจารณญาณ
– การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning และ STEM Education เพื่อสร้างทักษะที่ทำให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งคาดหวังให้ผู้เรียนมีกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้
– การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจ พร้อมทั้งมีคุณสมบัติด้านอาชีพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยร่วมกับเครือข่ายกับสถานประกอบการเพื่อกำหนดกรอบคุณสมบัติของแรงงาน
– ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมโดยใช้ บวร: บ้าน วัด โรงเรียน ในการดำรงไว้ซึ่งความดีและพัฒนาการศึกษาของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมที่พึงประสงค์
– การรับผู้เรียนเข้าเรียนตามข้อมูลสำมะโนประชากร ซึ่งจะช่วยลดอัตราเด็กตกหล่น และทำให้ประชากรวัยเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการให้ทุนการศึกษากับเด็กที่ด้อยโอกาส หรือเด็กที่มีฐานะยากจนแต่มีผลการเรียนดี การให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนประสบปัญหาด้านต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอัตราเด็กออกกลางคันและจำนวนเด็กกลุ่มเสี่ยงลงได้
– สนับสนุนให้สถานศึกษาเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างทั่วถึง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
– ส่งเสริมให้ครูได้รับการพัฒนาสำหรับการจัดการเรียนการสอน โดยการเข้าร่วมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ Professional Learning Community: PLC ที่จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพผู้เรียน พร้อมส่งเสริมให้ครูออกแบบการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลที่ตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน และส่งเสริมการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนานวัตกรรมในชั้นเรียนด้วย
– ส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อให้มีหลักสูตรที่สอดคล้องและนำไปใช้ในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการใช้หลักสูตร ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดทำสาระการเรียนรู้พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
– การนำต้นทุนนวัตกรรมการศึกษาที่จังหวัดกาญจนบุรีมีอยู่แล้วมาปรับใช้ อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านท่าแย้ อำเภอด่านมะขามเตี้ย, การพัฒนาคุณธรรม 3 ทำ นำ 3 จิต โรงเรียนบ้านหนองตาบ่ง อำเภอท่าม่วง โดยมีครูจิตอาสา ชุมชนจิตอาสา และยุวชนจิตอาสา, นวัตกรรมห้องเรียน QR Code โรงเรียนบ้านห้วยน้ำขาว อำเภอเมืองกาญจนบุรี โดยนักเรียนสามารถเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการสแกน QR Code ทำให้เด็กเรียนที่ไหนก็ได้เวลาใดก็ได้ เป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น