ภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)

กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานมหกรรมนวัตกรรมการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “นวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรม นำสู่พัฒนาการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อวันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2560 ณ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน รวมทั้งเปิดอาคารกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารและข้าราชการในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 3,500 คน นำโดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวในพิธีเปิดว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกท่านและทุกหน่วยงานที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ สำหรับการแสดงนิทรรศการ “มหกรรมนวัตกรรมการศึกษา” นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ร่วมงานและประชาชนทั่วไปที่รับทราบผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ

การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีการจัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบตามอัตลักษณ์และตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)” ถือเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ให้เป็นไปยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ มีความมั่นใจในแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในพื้นที่ 20 ปี ที่ได้จัดทำขึ้น และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ย่อย

นอกจากนี้ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ที่ระบุเป้าหมายในการดำเนินงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไว้ว่า “การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติเจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมีความรู่คู่คุณธรรม ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศในอนาคต” และ “การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ให้แก่คนไทย” ไปเป็นกรอบแนวคิดในการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วย นอกเหนือจากคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการใช้ภาษาไทยของคนในพื้นที่ การฝึกอบรมทั้งในระบบและนอกระบบที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีอาชีพ มีงานทำ สร้างรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ การจัดการศึกษาที่เท่าเทียม ทั่วถึง ตามความถนัด และสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่แล้ว การให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนและการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขได้อย่างยั่งยืน


อนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้กล่าวรายงานใน 2 ส่วน คือ “พิธีเปิดอาคารสำนักงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)” และ “การประชุมการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ และผู้มีเกียรติจำนวนมากเข้าร่วมประชุม เช่น พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล และ พล.ต.ต.ธัมมศักดิ์ วาสะศิริ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายประเสริฐ  บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงาน กศน., นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นต้น

 

คำกล่าวรายงาน
ของ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
ในพิธีเปิดอาคารสำนักงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)

“เมื่อปี พ.ศ. 2557 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือที่เรียกกันว่า “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)” ขึ้น โดยอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค 8 จังหวัดยะลา เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน เชื่อมโยง บูรณาการงานต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดคุณภาพ นำระบบการศึกษาที่เข้มแข็งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างบูรณาการ เชื่อมโยง ประสานสอดคล้อง เพื่อให้คุณภาพการศึกษาเกิดการพัฒนาและเกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม อันจะทำให้เกิดสันติสุขได้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล

ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึงปี พ.ศ.2579 เป็นผลทำให้ต้องมีการขยายโครงสร้างขององค์กรและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบกับ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถติดต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจังหวัดปัตตานีถือเป็นย่านกลางของพื้นที่

ในการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) จึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัยแห่งนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากกองพลทหารราบที่ 15 เพื่อใช้ปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป”

คำกล่าวรายงาน
ของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
ใน
การประชุม “การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

ในห้วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินงานและได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งรวมทั้งการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะมีภารกิจโดยตรงด้านการจัดการศึกษาในพื้นที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังเป็นหน่วยงานหลักของกลุ่มภารกิจงานที่ 4 ด้านการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานฯ อีกด้วย

เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบไปด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย และจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และความมั่นคง มีอัตลักษณ์ทางด้านภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมแตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ การจัดการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวเป็นสำคัญ รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและบริบทของการพัฒนาประเทศด้วย

สำหรับแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) นั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ขึ้น และได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ในการร่วมแสดงความคิดเห็น ภายหลังจากการรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้ดำเนินการตามแผนฯ แล้วจึงได้จัดการแถลงแผนยุทธศาสตร์ฯ ในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาทั้งหลายได้รับทราบและนำไปวางแผนในระดับจังหวัด ซึ่งได้จัดคณะทำงานติดตาม แนะนำ ร่วมกันจัดทำจนเป็นที่เรียบร้อยจบสมบูรณ์ทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป

ตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้มีการกำหนดเป็น 6 ยุทธศาสตร์ย่อย 14 เป้าหมายสำคัญ 55 ตัวชี้วัด 18 กลยุทธ์ และ 81 แนวทางย่อย ที่ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งจากการดำเนินงานตาม 6 ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทุกหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บรรลุตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ และที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้เน้นย้ำสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานอยู่ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน

 


บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
บัลลังก์ โรหิตเสถียร: ถ่ายภาพ
12/7/2560