ภารกิจที่จังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ – เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักเรียน ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว อำเภอเชียงดาว และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม และบรรยายพิเศษ เรื่อง “สืบสานพระราชปณิธาน โรงเรียนคุณธรรม”  จากนั้นเป็นประธานการประชุม YMCA ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 27 พร้อมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ เรื่อง “In Remembrance of Our Beloved King: ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในความทรงจำไทยทั้งชาติ” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพลส


● ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม
ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม-ศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว-ยุพราชวิทยาลัย


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า การเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ทำให้นึกถึงความทรงจำที่ดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคภูมิใจของชีวิต อีกทั้งการมาพบปะและเยี่ยมเยียนผู้บริหาร ครูอาจารย์ และลูกหลานนักเรียนในครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือให้ทุกท่านช่วยกันขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่มีกรอบแนวคิดที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างชาติ และพัฒนาชาติ เพราะการทุจริตกับการเจริญรุ่งเรืองเป็นสิ่งที่ไปคู่กันไม่ได้ หากกระทำการทุจริตเพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองนั่นคือความไม่ถูกต้อง ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมจะสำเร็จขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับลูกหลานนักเรียนทุกคน หากไม่ช่วยกันขับเคลื่อน ความสำเร็จก็มิอาจเกิดขึ้นได้ จึงขอให้ช่วยกันคิดว่าจะสร้างมรดกชิ้นสำคัญนี้ให้กับแผ่นดินได้อย่างไร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


นอกจากนี้ ฝากลูกหลานนักเรียนน้อมนำศาสตร์พระราชาประการอื่นมาประยุกต์ใช้ เช่น ความเพียร ความขยันหมั่นเพียร ความโปร่งใส หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ โดยอย่าไปเลียนแบบความทันสมัยจนหลงลืมเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งขอให้ภาคภูมิใจในพื้นที่ของตน



ที่ รร.เชียงดาววิทยาคม



ที่ รร.ศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว



ที่ รร.ยุพราชวิทยาลัย


ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีจำนวนเด็กเลือกเรียนสายวิชาชีพลดลง เนื่องจากสังคมไทยมีค่านิยมในการเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา ในขณะที่การเรียนสายอาชีพ ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา จึงขอฝากลูกหลานในการศึกษาข้อมูลว่าตนเองต้องการศึกษาในสาขาวิชาชีพใดในระดับที่สูงขึ้น เพื่อจะได้เรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง.



● เปิดงาน YMCA ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 27 พร้อมทั้งกล่าวสุนทรพจน์ เรื่อง “In Remembrance of Our Beloved King: ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในความทรงจำไทยทั้งชาติ”


ม.ล.ปนัดดา กล่าวตอนหนึ่งว่า ถือเป็นเกียรติและความยินดียิ่งที่ได้มีโอกาสกล่าวถึงความทรงจำที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นที่รักของชาวไทยทั้งชาติ โดยขอกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ ในปี พ.ศ.2513 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงมีความพอเพียงในการดำรงตนได้


อย่างที่ทุกท่านทราบว่าในปี พ.ศ.2540 วิกฤตเศรษฐกิจในทวีปเอเชียนำพวกเราให้กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เราน้อมระลึกถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในขณะนั้น โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี


สำหรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ยังส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ช่วยชี้แนะให้ประชาชนใช้ชีวิตบนทางสายกลาง ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนหลักในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยนายโคฟี แอนนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “Human Development Lifetime Achievement Award” ของ United Nations Development Programme (UNDP) แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี


ซึ่งรางวัลนี้แสดงให้เห็นถึงความเคารพรักที่มีต่อพระองค์ท่าน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ไม่ได้มีคุณค่ากับปวงชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการพัฒนาโลกด้วย พระองค์ทรงเป็นนักพัฒนา นักประดิษฐ์ นักสิ่งแวดล้อม ศิลปิน เป็นแบบอย่าง และเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล



เปิดงาน YMCA เชียงใหม่


ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่ม คือ การพัฒนา การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และสิ่งแวดล้อม


1) การพัฒนา การพัฒนามนุษย์ที่มุ่งเน้นการระเบิดจากข้างใน กล่าวคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งในกับคนในสังคม เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมที่จะรับมือกับการพัฒนาจากภายนอกได้ โดยเริ่มจาก 3 ขั้นตอน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2559 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รายงานว่ามีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 4,685 โครงการ แบ่งออกเป็น 8 ประเภท คือ โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ, โครงการพัฒนาด้านการเกษตร, โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม, โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ, โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข, โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร, สวัสดิการสังคม/การศึกษา และโครงการพัฒนาแบบบูรณาการ/อื่น ๆ


ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง ทรงเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ พระองค์ได้ทรงทดลองและพัฒนาการเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อาทิ แปลงนาทดลองปลูกข้าว การเลี้ยงปลานิล โรงโคนม เป็นต้น


นอกเหนือจากที่กล่าวมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทย โดยแต่ละศูนย์ศึกษาฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ โดยศูนย์ศึกษาฯ จะทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐและจังหวัดใกล้เคียงด้วย อีกทั้ง ศูนย์ศึกษาฯ ยังดำเนินการในลักษณะของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” โดยผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเข้าไปศึกษาดูงานรูปแบบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรูปแบบที่ง่ายไปปรับใช้ได้ และเป็นประโยชน์ เพื่อกระตุ้นให้บุคคลและชุมชนนำไปสู่การปฏิบัติและดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน


2) โครงการฝนหลวงหรือการทำฝนเทียม และกังหันน้ำชัยพัฒนา โดยโครงการฝนหลวงริเริ่มจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย ซึ่งหลังจากการทดลองก็สามารถทำฝนเทียมได้สำเร็จในปี พ.ศ.2512 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโครงการฝนหลวงก็เป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่งกับประชาชนไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังประโยชน์ให้ประเทศอื่นสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้ได้ด้วย สำหรับกังหันน้ำชัยพัฒนาที่ช่วยลดมลพิษทางน้ำด้วยการเพิ่มออกซิเจนในน้ำนั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ราคาถูก คงทน สามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ตลอดจนมีระบบการทำงานที่คุ้มค่า และมีค่าบำรุงรักษาน้อย


3) สิ่งแวดล้อม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใส่พระทัยกับการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ลุ่มน้ำ การควบคุมการกัดเซาะของดิน การพัฒนาดิน การพัฒนาการเกษตร การฟื้นฟูพื้นที่ป่า เป็นต้น


โดยสรุปแล้วเมื่อพูดถึงความยั่งยืน ก็จะมีพื้นฐานมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีหลักการพื้นฐานสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ แม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานกว่า 40 ปี แต่หลักคิดนั้นก็เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันทั้งในระดับชาติและระดับโลกได้ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ในดวงใจและความทรงจำของปวงชนชาวไทยทั้งชาติตลอดไป ซึ่งเป็นความทรงจำที่สำคัญที่มีต่อพ่อหวงของปวงชนชาวไทย และเป็นความคิดถึงพระองค์สุดหัวใจที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้



อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น: ถ่ายภาพ
22/7/2560