ภารกิจที่นครปฐม

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยม พบปะสนทนากับผู้บริหาร นักเรียน และบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘ศาสตร์พระราชาจะดำรงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และโครงการการใช้ภาษาต่างประเทศ (Diplomatic Language, ภาษาทางการทูต)’ ณ โรงเรียนสามพรานวิทยา อ.สามพราน จ.นครปฐม และโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานสอนหลักการ “รู้-รัก-สามัคคี” ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ประสานกันทั้งสามระดับ เพราะเมื่อเรารู้ก็จะเกิดความเข้าใจ เมื่อมีความรักก็จะเข้าถึงในทุก ๆ เรื่องอย่างถ่องแท้ ก็จะเกิดเป็นความสามัคคีของคนในชาติบ้านเมือง และเมื่อนั้นการพัฒนาในทุก ๆ ด้านก็จะตามมา โดยขอให้ลูกหลานนำหลักคำสอนเหล่านี้ พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชา ไปประกอบใช้ในการเรียนและการดำรงสัมมาชีพในอนาคตข้างหน้า เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ตลอดจนขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองภาคภูมิใจ และครูอาจารย์สามารถฝากอนาคตไว้กับลูกหลานได้

ในส่วนของภาษาอังกฤษนั้น นับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน แต่ลูก ๆ ต้องไม่หลงทางกับความคิดที่ว่า “น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใคร มิเช่นนั้นเราคงพูดภาษาอังกฤษเก่ง” จึงขอฝากให้พินิจพิจารณาประเด็นนี้ให้ดี เพราะมีคนไทยจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษได้อย่างไพเราะ ชัดถ้อยชัดคำ และสามารถสื่อสารได้อย่างเข้าใจ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นเมืองขึ้น

โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ภาษาทางการทูต สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจศึกษาต่อด้านนี้ ซึ่งประกอบด้วยวิธีการพูด 5 ประการ ที่จะแสดงถึงความสุภาพทางการทูต คือ

1) การฟังและความเข้าใจ
2) หลีกเลี่ยงภาษาในทางลบ ที่ให้ความรู้สึกไม่ดีกับคู่สนทนา
3) พูดคำมหัศจรรย์ (Magic Word) เช่น คำว่า “sorry”
4) ใช้คำพูดที่เหมาะสม อ่อนนุ่ม รื่นหู
5) ไม่ควรชี้นิ้วใส่ผู้อื่นระหว่างที่สนทนา เพราะทางการทูตถือว่าไม่สุภาพและไม่มีมารยาท

พร้อมทั้ง ฝากถึงลูกหลานนักเรียนให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ Social Media แนะนำว่าควรใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีใคร เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา ที่ต้องโพสต์แสดงความเห็นว่ากล่าวใคร และไม่ควรไปสุงสิงคนที่ใช้ Social Media อย่างไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่สามารถหยุดพฤติกรรมได้ แต่เราก็จะไม่ยุ่งด้วย

อนึ่ง นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ดังนี้

นายสิทธิโชติ ภุมมาลา : จะน้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยเฉพาะเรื่องความพอเพียงไปประพฤติปฏิบัติ ด้วยการรู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นต่อชีวิต โดยคิดพิจารณาก่อนที่จะซื้อ และคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของครอบครัวด้วย

น.ส.จันทร์นวล จันทร์ : กล่าวถึงบทประพันธ์ เรื่อง กล้วยไม้ ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีต รมว.ศธ. ที่ว่า
“กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร งามเด่น
งานศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้ว แสนงาม”

ซึ่งเปรียบได้ว่า กล้วยไม้ เป็นดอกไม้ที่ต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงนาน กว่าจะผลิดอกออกมา ต้องใส่ปุ๋ยและดูแลอย่างดี เช่นเดียวกับการที่ครูให้ความรู้อบรมสั่งสอนศิษย์ ก็ต้องใช้เวลาในการอบรมบ่มสอนนาน แต่เมื่อกล้วยไม้ออกดอกก็มีความงดงาม เช่นเดียวกับศิษย์ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจนประสบความสำเร็จ ความรู้เหล่านั้นก็ไม่มีใครนำไปจากเราได้


กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี
2 พฤศจิกายน 2560