ภารกิจที่นครราชสีมา-สระบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สมัยสามัญ ครั้งที่ 6 (University Student Councils Assembly of Thailand: SCAT#6) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2560 ณ อาคารบรรณสาร มทส. อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมบรรยายพิเศษ “บทบาทผู้นำนักศึกษากับการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ” โดยผู้บริหารและผู้นำนิสิตนักศึกษาจาก 22 สถาบันที่เป็นสมาชิกสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมงาน



ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สภาคณบดี ตลอดจนสภาวิชาชีพแต่ละสาขา มีความพยายามที่จะพัฒนาเยาวชนวัยทีนเอจ (Teenage) ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ระดับการอุดมศึกษาจนกระทั่งจบการศึกษา เพื่อเข้าสู่โลกของการทำงานในวัยผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นช่วงผ่องถ่ายที่สำคัญที่จะต้องจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการในห้องเรียน และเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียนอย่างสมดุลและเพียงพอต่อการพัฒนาทักษะเพื่อเป็นพลเมืองไทยและพลโลกที่ดีให้ได้ ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ดังเช่นกิจกรรมของสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ที่ช่วยส่งเสริมความคิดเป็นทำเป็น รู้จักวางแผนงานและกิจกรรม เปิดประสบการณ์และมุมมองจากการทำงานเป็นทีม เกิดความรักความสามัคคี ตลอดจนตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ชุมชน และสังคมด้วย


ฝากถึงผู้นำนิสิตนักศึกษาทุกคน ให้ช่วยสร้างความเป็นเอกภาพขององค์กรให้เกิดขึ้น โดยน้อมนำคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของความสามัคคี สู่การปฏิบัติ ที่จะเกิดเป็นพลัง เกิดการสร้างบารมี และผลงานที่ประจักษ์ต่อวงการอุดมศึกษา เพื่อเชิญชวนสถาบันอื่น ๆ มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวมีใจความตอนหนึ่งว่า การจัดงานสำหรับนิสิตนักศึกษาเช่นนี้ ถือเป็นงานระดับปัญญาชน เป็นอีกกิจกรรมที่จะได้มาซึ่งแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การขยายผลต่อยอดสู่การปฏิบัติจริง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอุดมศึกษาและประเทศชาติ และได้กล่าวถึง “ศาสตร์พระราชา” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงสอนให้เรารักกัน ร่วมมือกัน สามัคคีกัน เพื่อทำให้ประเทศสงบสุขและมีความเจริญรุ่งเรือง โดยในช่วงวัยของการศึกษาเล่าเรียน นอกจากเราจะต้องหมั่นเพียรและขวนขวายเพื่อสร้างความดีงาม ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองแล้ว ควรปฏิบัติตามหลักคำสอนพระราชทาน “รู้-รัก-สามัคคี” และ ” เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” เพื่อสร้างความรักความสามัคคี ความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษาร่วมสถาบัน และขยายผลไปยังสถาบันอื่นด้วย สิ่งสำคัญอีกประการคือ การทำงานสิ่งต่าง ๆ ควรยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง และใช้สื่อโซเชียลมีเดียด้วยความรับผิดชอบ


ในส่วนของคุณลักษณะความเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship Characteristics) เป็นหลักการสากลที่ครูบาอาจารย์ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในหลายประการ อาทิ ความเป็นพลเมืองของประเทศที่มีความรู้สึกห่วงใยผูกพันต่อเพื่อนมนุษย์และโลก ทักษะในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนข้ามวัฒนธรรม สมรรถนะสากลด้านการทำงาน มีทัศนคติและค่านิยมเพื่อการปฏิสัมพันธ์ที่ดี มีความคิดยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นต้น



อนึ่ง ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ได้พบปะคณะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ณ หอประชุมโรงเรียน



ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า ต้องการมาพบปะเพื่อขอความร่วมมือจากนักเรียนและคณะครูในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรม ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนโรงเรียนเอกชน สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่ขานรับเข้าร่วมโครงการด้วยแล้ว
ซึ่งมีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) การมีอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม


ทั้งนี้ ขอแนะนำนักเรียนให้ศึกษาและอ่านพระบรมราโชวาท คำสอนพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ซึ่งมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ทรงพระราชทานคำสอนคำแนะนำเกี่ยวกับครูไว้หลายประการ อาทิ “คนไทยเราเคารพยกย่องครูมาก สงเคราะห์ครูเข้าในบุพการีรองจากบิดามารดาไม่ว่าผู้ใดมียศถาบรรดาศักดิ์มากเพียงใดก็ยำเกรงครู ไม่ลบหลู่ครู ไม่ลืมครู เพราะเราถือว่าครูเป็นผู้ปลูกฝังทั้งความรู้และความดีเป็นผู้ที่ปั้นเราให้เป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม” เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรให้ความเคารพและสำนึกในพระคุณครู เพราะครูอาจารย์เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการอบรมบ่มสอนลูกหลานให้เป็นคนดี มีความรักสมัครสมานสามัคคี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต




“โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม” ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน (สระบุรี-หล่มสัก) ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จัดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียน 3,438 คน มีผู้บริหาร ครู และเจ้าหน้าที่ 186 คน โดยมีนายเฉลียว ไตรพิพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน


เอกลักษณ์: วิชาการดี เทคโนโลยีพร้อม
อัตลักษณ์: สร้างกิจกรรม ทำด้วยตนเอง
วิสัยทัศน์: ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก มีคุณธรรม จริยธรรม ปฏิบัติตามแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณภาพได้มาตรฐานการศึกษา และมาตรฐานสากล
สีประโรงเรียน: สีเหลือง-ฟ้า



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
6/7/2560