ภารกิจที่อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘ศาสตร์พระราชากับพัฒนาการทางการศึกษา’ เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ โดยมีรองผู้อำนวยการอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย คณาจารย์ และลูกหลานนักเรียนกว่า 500 คน เข้าร่วมรับฟัง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า โดยส่วนตัวได้มีโอกาสเดินทางผ่านอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งการมาเยี่ยมเยียนและพบปะสนทนากับผู้บริหาร คณาจารย์ และลูกหลานนักเรียนในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ สุขใจ และยินดีที่ได้มาพบกับทุกท่าน อีกทั้งยังเป็นความตั้งใจในการมาขอความร่วมมือครูอาจารย์ และลูกหลานนักเรียนทุกคน ให้ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมในสถานศึกษาทุกสังกัด ซึ่งมีตัวชี้วัดสำคัญ 5 ประการ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) การมีอุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นการบำเพ็ญคุณความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ซึ่งจากการไปเยี่ยมเยียนและพบปะครูอาจารย์ และพี่น้องประชาชนมาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่าทุกคนยังคงเศร้าโศกเสียใจกับการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9

นอกจากการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณธรรมแล้ว ขอฝากให้ครูอาจารย์ช่วยกันอบรมสั่งสอนลูกหลานนักเรียนให้มีความเป็นสุภาพชน กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดรู้อวดดี เคารพบิดามารดาและครูอาจารย์ มีวิจารณญาณในการใช้ Social Network คำนึงถึงมารยาทและจรรยาบรรณ ตลอดจนนำความถูกต้องและความมีไมตรีมาสู่สังคมไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมและการสั่งสอนลูกศิษย์จะมีความยากลำบากเพียงใดก็ขอให้ช่วยกันดูแลลูกหลานเยาวชนให้เป็นคนดีให้ได้

“อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย”

พ.ศ. 2493 ได้จัดตั้งอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และเปิดทำการสอนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2493 ณ เลขที่ 89/1 ถนนเตชวณิช ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ใกล้บริษัทโรงงานปูนซีเมนต์ไทย จำกัด บางซื่อ มีขุนคงฤทธิ์ศึกษากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน โดยมีนายรังสฤษดิ์ เชาวน์ศิริ เป็นอาจารย์ใหญ่ สังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รับเฉพาะนักเรียนชายที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 เข้าศึกษาตามหลักสูตรวิชาการศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับ ภาษามลายู และความรู้ทั่วไป เทียบเท่าหลักสูตรอนุปริญญา ผู้เข้าศึกษาเรียกว่า “นิสิต” จัดให้อยู่หอพักโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและค่าอาหารแต่อย่างใด

พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกเลิกหลักสูตรปี 2493 เนื่องจากมีผู้สมัครเข้าเรียนน้อย จึงเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์แทน โดยให้มีการสอนวิชาการศาสนาอิสลาม ภาษาอาหรับ และภาษามลายูด้วย ในปีนี้อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยได้ย้ายสังกัดจากกรมการศาสนามาอยู่กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2498 เริ่มเปิดสอนชั้น ม.1 และ ม.4 หลังจากนั้นได้เปิดชั้นเรียนอื่น ๆ ในปีต่อมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2503 ได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ นับว่าปีการศึกษา 2503 ได้เปิดสอนทั้งประโยคมัธยมศึกษา และประโยคเตรียมอุดมศึกษาโดยสมบูรณ์ คือ ม.1 – ม.6 ซึ่งทุกระดับชั้นจะมีการเรียนการสอนอิสลามศึกษา และประโยคเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์ และมีการเรียนการสอนวิชาภาษาอาหรับด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนหลักสูตรการสอนตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนหลักสูตรประถมศึกษาตอนปลาย (ป.5-7) และ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (มศ.1-3)

พ.ศ. 2506 เปลี่ยนหลักสูตรการสอนในชั้นประโยคเตรียมอุดมศึกษา เป็นหลักสูตร พ.ศ. 2503 โดยเปิดสอนครบทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น (มศ.1-3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (มศ.4-5)

พ.ศ. 2508 ย้ายจากสถานที่เดิมมาอยู่ที่ 146 หมู่ 1 ถนนประชาอุทิศ ตำบลทุ่งครุ อำเภอทุ่งครุ กรุงเทพฯ ซึ่งมีเนื้อที่ 41 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา ก่อสร้างอาคารเรียน 2 หลัง หอพักนักเรียนประจำ 1 หลัง บ้านพักครู โรงอาหาร โรงครัว ขุดสระน้ำ

พ.ศ. 2515 เปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนชั้น ป.5, มศ.1 และ มศ.4 เป็นครั้งแรก เป็นการเริ่มต้นสถานศึกษาประเภทสหศึกษา

เอกลักษณ์ของโรงเรียน “ลูก อ.ว.ท. ยึดมั่นหลักศาสนา”
อัตลักษณ์ของโรงเรียน “สมานฉันท์ สันติสุข”
คำขวัญประจำโรงเรียน “เรียนดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำกีฬา”
สีประจำโรงเรียน “เขียว-ขาว” สีเขียว หมายถึง ความเจริญงอกงามทางการศึกษา สีขาว หมายถึง การยึดมั่นในศาสนา
วิสัยทัศน์ของโรงเรียน “เป็นสถาบันที่มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ คู่คุณธรรม นำกีฬา ล้ำหน้าเทคโนโลยี ยึดถือวิถีความพอเพียง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”


อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
19/6/2560